อนุบาลจิตศึกษา









หลักการ

พัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างองค์รวม ทั้ง Self (self, self esteem, self control),   EF และพัฒนาการ  4  ด้าน (ร่างกาย จิตใจ-อารมณ์  สังคม  สติปัญญา)  ผ่านการเรียนรู้แบบซึมซับจากสนามพลังบวก(สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสะอาดและสงบ  วิถีที่มั่นคงมีเหตุผล  และ บุคคลแวดล้อมที่ใช้จิตวิทยาเชิงบวก) และ ผ่านการเรียนรู้แบบพุ่งเป้าจากกิจกรรมตามวิถีประจำวันที่มีทั้งจิตศึกษา และ PBL  ที่บูรณาการในงานบ้าน งานสวน งานครัว งานสำรวจ และการเล่น

วิถีอนุบาลจิตศึกษา


เวลา 07:30 – 08:20 น.
กิจกรรม  เริ่มต้นวันใหม่อย่างมีความหมาย ปรนนิบัติสถานที่


หลักการ  

ความกังวลต่อการพลัดพรากจากแม่ ผู้เรียนบางคนจะมีพฤติกรรมร้องไห้งอแง กรีดร้องเมื่อเห็นหรือรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกผู้ปกครองทิ้งให้อยู่กับคนอื่น ครูจึงเบี่ยงเบนความสนใจของผู้เรียน ด้วยการสำรวจสิ่งแวดล้อม  การปรนนิบัติสถานที่  ครูเชิญชวนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และพี่ๆ ชั้นอื่นๆ


เวลา 08:20 – 09:00 น.

กิจกรรม  จิตศึกษา (ช่วงที่ 1 ฝึกฝน)

หลักการ  

เพื่อให้ผู้เรียนฝึกฝนสติ ใคร่ครวญ รู้ตัว (สติชำนาญการ) ตระหนักในตน สามารถตัดสินใจในเชิงจริยธรรม เชื่อมสรรพสิ่งและเคารพในการเป็นได้ โดยครูจะสร้างสถานการณ์ผ่านนิทาน เรื่องเล่า เหตุการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจเลือกอย่างสมเหตุสมผล    



เวลา 09:00 – 10:30 น.
กิจกรรม บูรณาการ PBL(Play Based Learning) 

งานบ้าน งานสวน งานครัว งานสำรวจ และงานเล่น

หลักการ 

เชื่อมโลกและสรรพสิ่งผ่านการเล่นและการลงมือทำ  การเรียนรู้ร่วมกันโดยที่ไม่มีข้อกำหนดหรือรูปแบบที่ตายตัวทำให้ผู้เรียนมองเห็นศักยภาพของตนเองและผู้อื่น เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความสามารถที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลง  สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สามารถที่จะควบคุมจิตใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การที่มีความยืดหยุ่นทางด้านจิตใจและการรักษาความสมดุลทางอารมณ์





เวลา 10:30 – 11:00 น.

กิจกรรม น้อมในกาย (อาหารว่าง)


  หลักการ 

    ดื่มกินอย่างมีสติและเคารพในกาย


เวลา 11:00 – 11:30 น.


กิจกรรม  กายผัสสะและโลก (ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาแบบองค์รวม)


หลักการ

 เราเชื่อว่าผู้เรียนมีคลังคำมาแล้ว ขึ้นอยู่ว่าแต่ละครอบครัวนั้นอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ชวนลูกสนทนา เป็นครอบครัวที่เปิดโลกทัศน์ให้ลูกมากน้อยแค่ไหน เฉลี่ยประมาณ 300-600 คำ ซึ่งคำเหล่านี้ผู้เรียนจำเป็นเสียง และในเสียงนี้มีความหมายอยู่ด้วย เช่น คำว่า แม่ เสียงแม่ ผู้เรียนยังไม่รู้เขียนอย่างไร สัญลักษณ์เป็นอย่างไร มีรูปอย่างไร แต่ผู้เรียนสามารถใช้ได้ถูก  แสดงว่าผู้เรียนไม่ได้มาด้วยความว่างเปล่า ผู้เรียนมาจากบางสิ่งบางอย่างที่มีชุดของคำมาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้เรียนมีมาจะเป็นประโยชน์มาก  ครูจึงควรจะเพิ่มพูนประสบการณ์ การใช้ภาษาแล้วดึงเอาคำที่มีในตัวเขาออกมาให้เป็นรูปแบบที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยครูจะอ่านคำ ข้อความ  เรื่องราวจากวรรณกรรม  หรือเล่านิทานให้ผู้เรียนฟัง ตั้งคำถามกับคำ ข้อความ หรือเรื่องนั้นๆ ชวนสนทนาต่อในประเด็นที่ผู้เรียนสนใจและแปลกใหม่ ในขณะเดียวกันผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกยืมนิทานหรือหนังสือที่สนใจกลับไปอ่านที่บ้านทุกวัน



เวลา 11:30 – 12:00 น.

กิจกรรม  น้อมในกาย (อาหารกลางวัน)


หลักการ  

ดื่มกินอย่างมีสติและเคารพในกาย



เวลา 12:30 – 14:30 น.

กิจกรรม   สำรวจร่างกายจิตศึกษา (ช่วงที่ 2 พักผ่อนอย่างสมบูรณ์ 


หลักการ 

การสร้าง Self concept ให้ผู้เรียนรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีรูปร่างอย่างไร แตกต่างจากผู้อื่นอย่างไร เป็นเรื่องที่จำเป็นมากในตอนต้น เมื่อผู้เรียนผ่านช่วงแรกได้ ผู้เรียนก็จะไม่ล้อคนอื่น ไม่รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยผู้เรียนจะเห็นความแตกต่างของเพศตั้งแต่ต้น เห็นความแตกต่างด้านร่างกาย และในที่สุดผู้เรียนก็จะเกิดการเคารพซึ่งกันและกัน ผ่านการสำรวจร่างกาย (อาบน้ำ) เริ่มจากผู้เรียนเปลี่ยนชุดผู้เรียนเตรียมอาบน้ำ ผู้เรียนๆ อาบน้ำด้วยตนเองเมื่ออาบเสร็จแล้วตากผ้าเช็ดตัวใส่ชุดนอนอ่านนิทาน


(ตลอดจนการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ ทำให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลาย สั่งสมพลังงาน สมองจัดเรียงประสบการณ์)




เวลา 14:30 – 15:30 น.   

กิจกรรม  จิตศึกษา (ช่วงที่ 3 จัดกาย จัดใจ)

หลักการ

 การตระหนักรู้ในตน ความสามารถของตน รู้หน้าที่ของตน กลับมาทบทวนสะท้อนแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ตลอดทั้งวัน และมอบหมายการบ้าน วางแผนสำหรับกิจกรรมวันพรุ่งนี้ โดยการที่ผู้เรียนตื่นนอนแล้วเก็บที่นอน เปลี่ยนชุด จัดเก็บจัดเรียงกระเป๋าสัมภาระของตนเองอย่างเป็นระเบียบและรู้ตัว รับการบ้าน และดื่มนม


แนะนำหนังสือ

นางฟ้าหัวจุกไปโรงเรียน

    ดูรายละเอียดเพิ่มเติม