รางวัลครูของโลก

“เด็กเอ๋ย

  เมื่อเธอปรากฏขึ้น ครูจึงได้ปรากฏขึ้น

  เมื่อครูได้รู้จักเธอ ครูที่แท้จึงก่อตัวขึ้น

  แต่เมื่อเข้าใจเธอที่แท้ เธอคคือครูของครู”

 

“รางวัลครูของโลก” เริ่มต้นจากเรื่องราวของครูมะ-มยุรา ณ วงศ์ จากโรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง ผู้ได้รับรางวัลครูของโลก ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2564

เดิมทีครูมะเป็นครูสอนแบบเดิม ๆ เสียงดัง เข้มงวด ดุ มักกะเกณฑ์ มักตัดสิน ทำให้นักเรียนขยาด เพียงแค่ครูมะเอ่ยชื่อเรียกมาหานักเรียนก็ถึงกับร้องไห้  แต่เมื่อครูมะได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ได้ใช้จิตวิทยาเชิงบวก ได้เปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ ได้บูรณาการการเรียนรู้  ได้ใช้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม  นักเรียนก็เปลี่ยนไปเป็นผู้กระตือรือร้นต่อการเรียน  มีความคิดสร้างสรรค์  มีความคิดวิจารณญาณ  เห็นอกเห็นใจคนอื่น  เคารพกันและกัน  จนการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนก้าวหน้าอย่างมาก

จากความตระหนักรู้ สู่การตื่นรู้  ครูมะเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตความเป็นครู  มีจิตใหญ่  เห็นแก่เด็ก  เห็นแก่คนอื่น  เห็นแก่ส่วนรวม  ครูมะจึงเป็นแรงบันดาลใจ  และเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้ครูอีกหลายคนได้ตื่นรู้เหมือนกับตน

แต่ครูแบบอย่างนี้มักไม่ถูกมองเห็นโดยง่าย  เพราะสิ่งสำคัญจริงมักอยู่นอกเกณฑ์  อยู่เหนือตัวชี้วัด  หลบซ่อนจากสายตาธรรมดา

 

“รางวัลครูของโลก” ก่อตัวขึ้นเพื่อชุบชูบูชาครูผู้เข้าถึงความหมายของ “ครูที่แท้”  

“รางวัลครูของโลก” คือตัวแทนของมนุษย์ตัวน้อย ๆ กับหัวใจดวงใหญ่เพื่อมอบให้ครูผู้เข้าถึงความหมายของ “เธอที่แท้”


ำปลายมาศพัฒนา


“รางวัลครูของโลก” ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2564 

ครูมะ-มยุรา ณ วงศ์  โรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง



“จากครูผู้เข้มงวด สู่ครูผู้ตื่นรู้”

เดิมทีครูมะเป็นครูสอนแบบเดิม ๆ เสียงดัง เข้มงวด ดุ มักกะเกณฑ์ มักตัดสิน ทำให้นักเรียนขยาด เพียงแค่ครูมะเอ่ยชื่อเรียกมาหานักเรียนก็ถึงกับร้องไห้ 

แต่เมื่อครูมะได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่  ได้ใช้จิตวิทยาเชิงบวก  ได้เปลี่ยนการจัดการเรียนรู้  ได้บูรณาการการเรียนรู้  ได้ใช้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม  เมื่อครูเปลี่ยนนักเรียนก็เปลี่ยนไป นักเรียนกล้าเข้าหาครูมากขึ้น มีความสุขในการเรียน ครูเองก็มีความสุข เปลี่ยนการตัดสินเป็นการเปิดโอกาส นักเรียนก็กระตือรือร้นต่อการเรียน ร่วมคิดร่วมแสดงออก  มีความคิดสร้างสรรค์  มีความคิดวิจารณญาณ  เห็นอกเห็นใจคนอื่น  เคารพกันและกัน  จนการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนก้าวหน้าอย่างมาก 

จากความตระหนักรู้ สู่การตื่นรู้  ครูมะเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตความเป็นครู  มีจิตใหญ่  เห็นแก่เด็ก  เห็นแก่คนอื่น  เห็นแก่ส่วนรวม  ครูมะจึงเป็นแรงบันดาลใจ  และเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้ครูอีกหลายคนได้ตื่นรู้เหมือนกับตน 



ครูมะ-มยุรา ณ วงศ์ โรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง


ตอนผมเข้าเรียนปอหนึ่งกับเพื่อนยี่สิบสี่คน  แต่ละคนจะมีถุงหรือย่ามคนละแบบเอาไว้ใส่กระดานชนวนคนละแผ่น  ห้องเรียนที่เป็นเพิงไร้ผนัง  พื้นเป็นทรายจะใช้เท้าเปล่าขีดเขี่ยเล่นด้วยก็ได้  ที่นั่งเรียนใช้ปีกไม้ตีเป็นโต๊ะทั้งม้านั่งตัวเหยียดยาว นั่งกันได้เจ็ดแปดคน

แต่ละวันครูอุบล   ชายตัวอวบอ้วนท่าทีอบอุ่น ใจดี  จะพาเราขีดเขียนตัวอักษรทั้งตัวเลขในกระดานชนวน  เขียนแล้วลบ  ลบแล้วเขียนรอบแล้วรอบเล่า  จนเราเองจำไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้นได้เขียนอะไรลงไปบ้าง

เมื่อได้ยินเสียงกลองเพลจากวัดที่อยู่ฟากทุ่งนา  ครูจะให้เราวางทุกอย่าง  แล้วมาต่อแถวเดินไปสู่ริมห้วยหลังโรงเรียน  เดินไกลโขเทียบแม่ไก่คงต้องบินหลายครากว่าจะถึง   บนรายทางครูสอนเรารู้จักต้นไม้ที่จะเด็ดใบใช้ทำเป็นจอกสำหรับตักน้ำดื่มในบ่อดินริมลำห้วย   ต้นไม้ไม่เคยตระหนี่  ทุกวันเราจะได้เด็ดใบไม้ใบใหม่คนละใบทำจอกอันใหม่  เพื่อตักน้ำซับจากพื้นดินที่ไม่เคยเหือดแห้ง

สิ้นปีนั้นครูย้ายกลับบ้าน  ส่วนผมได้เลื่อนชั้นปอสองแม้ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น  แต่ผมก็พับจอกใบไม้เป็น  เดินไปสู่บ่อน้ำและตักรินน้ำดื่มเองได้   ได้รู้สำนึกถึงคุณของจอกใบไม้แต่ครูไม่เคยมาทวงคุณจากเราเลย

.............

จอกของครู  จึงกระตุ้นให้เราเรียนรู้ที่จะสร้างเครื่องมือเลี้ยงชีพให้อยู่รอดให้ได้

จอกของครู  สอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติไม่ตระหนี่ขี้เหนียว  แต่ก็ไม่มีอะไรมากเกินไปหรือน้อยเกินไป  ทั้งให้ตระหนักว่าเรายังต้องพึ่งพาและเกื้อกูลธรรมชาติ  

จอกของครู  สอนเราวางใจต่อชีวิต มีหลายอย่างที่ไม่อาจครอบครองได้ และบางสิ่งที่ครอบครองได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว 

จอกของครู  รุนเราไปสู่ความสงสัยใคร่รู้ต่อโลกและต่อสิ่งต่าง ๆ  นำเราเชื่อมต่อกับผู้คนที่ไกลกว่ารั้วบ้านอันครับแคบ ไกลกว่าหมู่บ้านอันคับแคบ 


ในที่สุด “จอกใบไม้” ของครูจะนำเรากลับบ้าน  และ กลับไปสู่พื้นดินที่เรามา

...................

วิเชียร  ไชยบัง

เนื่องในงาน “ครูของโลก ครั้งที่ 2”


ครูของโลกครั้งที่ 2

ครูของโลกในฐานะผู้นำในการจัดการเรียนรู้ที่แท้ให้กับผู้เรียน


“แรงปรารถนาที่แรงกล้าภายในใจของเรา ที่ต้องการเห็นลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าประสบผลสำเร็จในชีวิต สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกแห่งความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้  ทั้งยังอยากแบ่งปันหลักคิดและกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบที่นำไปสู่กาเรียนรู้สู่ความสำเร็จนี้ไปถึงเพื่อนครูคนอื่น ๆ ด้วย เราอาจจะเป็นแค่พลังเล็ก ๆ แต่เมื่อครูหลายคนกล้าเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ในสักวันหนึ่ง”

ครูติ๊ก-ฉัตรวรีย์ บุญสิริเกียรติ ครูผู้เปลี่ยนแปลงตนเอง จากครูผู้สอนสู่ครูผู้สร้างการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงตนเอง ในฐานะที่เป็นครูด้วยใจรักในวิชาชีพนี้ ต้องการพัฒนานักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา ความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข จึงต้องพัฒนานักเรียนแบบองค์รวมเพื่อให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาภายในและปัญญาภายนอก ใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายในทั้งต่อตัวเอง นักเรียนและใช้กับผู้ปกครองด้วย พัฒนาปัญญาภายนอกของนักเรียนด้วยนวัตกรรม PBL (Problem Based Learning) บูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ การสอนภาษาไทยผ่านวรรณกรรมสู่การคิดขั้นสูง และจะนำการสอนคณิตศาสตร์แบบ Pro-Active มาพัฒนาการเรียนรู้ ต่อยอดให้กับนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูภาษาอังกฤษใช้แอพพลิเคชั่น จะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษกับนักเรียนในทุก ๆ วัน สำหรับการพัฒนาครูและพัฒนาองค์กรใช้นวัตกรรม PLC เพื่อให้ทุกคนได้ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่จะสอน มีทักษะการจัดการเรียนการสอน และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้โดยจะทำให้เข้มข้น เข้มแข็ง มีคุณภาพและต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร “สิทธิผลหงายกะลา” 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเพียรพยาม และทำจริงจังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูติ๊กคือครูต้นแบบ ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ  ครูผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา อีกทั้งขยายผลทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่  มีเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่นครพนม 57 โรงเรียน ที่สนใจนวัตกรรมทั้งจิตศึกษา PBL และ ภาษาไทยวรรณกรรม ในโอกาสที่ได้เป็นโค้ชขยายผลการพัฒนา ครูติ๊กยังเป็นนักเรียนรู้ พัฒนาตัวเองด้วยฝึกฝนอย่างเสมอ และยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือตามกำลังสติปัญญา เป็นดาวเหนือและเพื่อนร่วมทางให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป 




ครูของโลกในฐานะผู้ยืนหยัดในการจัดการเรียนรู้ที่แท้ให้กับผู้เรียน


“เมื่อเราใช้ความรักในการทำงาน ไม่ว่าเราจะเจออุปสรรค ปัญหาอะไร เราก็จะผ่านไปได้ เพราะเราจะไม่ทิ้งความรักอันมีค่านั้นไปอย่างแน่นอน เราให้ความรักกับเด็ก เราก็จะดูแลเขาเอาใจใส่เขา ใส่ใจเขา ให้เขาได้รับความรัก รับความสุข รับพลังจากเรา เขาจะเติบโตอย่างแข็งแรง เรารักโรงเรียน เราก็จะพัฒนาโรงเรียน ตรงไหนสกปรกอยู่เราก็เข้าไปทำ ตรงไหนขาดเราก็เข้าไปเติม เรารักเพื่อนครู เราก็จะให้อภัย ให้ความช่วยเหลือ  ให้พลังบวก เรารักและเข้าใจคนในครอบครัว ครอบครัวจะรักและเข้าใจเราเช่นกัน ความรักจะช่วยขับเคลื่อนทุกอย่างให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ”


ครูส้ม-ภัทร์รวี  สุขโทน  ครูผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่กล้าเปลี่ยน เพื่อพัฒนาการศึกษา เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งมุมมอง Mindset การจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้สร้างการเรียนรู้  เปลี่ยนทีละนิดทีละน้อยในสิ่งที่สามารถทำได้ ท่ามกลางของเพื่อนครูในโรงเรียนที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าครึ่งของครูทั้งหมด  ค่อยทำ ค่อยเปลี่ยนในชั้นเรียนตนเอง เปลี่ยนผู้เรียนในแบบที่ตนเองวาดฝันอยากได้ กล้าคิดกล้าแสดงออก มีเหตุมีผล  รักในการเรียนรู้ เมื่อครูเปลี่ยนเด็กเปลี่ยนเชิงประจักษ์ จึงค่อยขยายสู่เพื่อนครูในโรงเรียนที่สนใจ ชักชวนให้ลองทำ เป็นพี่เลี้ยง ที่คอยให้คำแนะนำ จากครูห้องนี้สู่ครูห้องนี้ จนมีกลุ่มครูผู้เปลี่ยนแปลงที่เป็นแกนนำในโรงเรียน  ผอ. เอื้อหนุน เมื่อมีโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเองจะเข้าร่วมกับลำปลายมาศพัฒนาทุกครั้ง ชวนเพื่อนครูมาด้วยสลับกลุ่มกันไป มาแล้วไปบอกเล่าให้ ผอ.ฟัง วางแผนกับเพื่อนครูว่าจะทำอย่างไรต่อที่โรงเรียนของเรา  ลงมือทำกับผู้เรียน ทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ครูส้มเป็นโค้ชหลักที่สำคัญของโรงเรียน  อีกทั้งเป็นโค้ชหลักในการขยายผล ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ครูส้มกลายเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูอีกหลายๆ คน เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคกลาง


“ท่ามกลางสายตาอับเคลือบแคลงของผู้คน เรายังเชื่อใจและศรัทธาต่อตัวเองอยู่ไหม? นั่นล่ะ ที่จะสร้างความแตกต่าง”

 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ที่เริ่มการเรียนรู้เพื่อจัดการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ก็ไม่เคยวอกแวกอีกเลย  แม้จะมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เข้ามาท้าทายจนแทบล้มลง แต่ด้วยตระหนักรู้ว่างานสำคัญไม่เสร็จโดยง่าย  จึงนำความรักสู่ความเพียร จนงานการศึกษาเป็นงานแห่งชีวิต”


ผอ.ชนิตา พิลาไชย  หญิงแกร่งผู้ยืนสงบเป็นดาวเหนือในแถบภาคกลาง  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบพื้นที่ภาคกลาง  ท่ามกลางหน่วยงานต้นสังกัดที่ไม่เห็นด้วย  โรงเรียนอื่นก็มองว่าเป็นสิ่งแปลกแยก ทั้งมองว่าการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องตลกขบขัน  แต่ด้วยด้วยการเรียนรู้ร่วมกับครูผ่าน PLC อย่างต่อเนื่องและพิสูจน์ผลที่เกิดกับผู้เรียนจนเป็นที่ประจักษ์  จึงได้รับการยอมรับจากเขตพื้นที่การศึกษา  มีโรงเรียนจำนวนมากเข้ามาศึกษาดูงาน  มีผู้สนใจสนับสนุนเพื่อการขยายผลทั้งจาก  สโมสรโรตารีราชบุรี  มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง  ปตท. และ มูลนิธิแอคชั่นเอดอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  จนสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนากว่า 25  โรงเรียน  ใน 6 จังหวัด 

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคตะวันออก

“เป้าหมายของการศึกษา คือ  ผู้เรียน”  ซี่งต้องเริ่มจากการเรียนรู้ของผู้อำนวยการโรงเรียนก่อน เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำทางวิชาการ  แล้วนำมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันของครูด้วย PLC อย่างมีคุณภาพ ทำต่อเองเนิ่นนานจนเป็นวิถี เป็นชีวิต  “แม้ครูบางท่านเปลี่ยนแปลงได้ช้า ผู้นำต้องยังให้ความกรุณาต่ออย่างไม่จำกัด”

ผมเริ่มการเรียนรู้ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง สู่การพัฒนาครู เพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ ตั้งแต่ ปี 2556  ตอนนั้น พบภาพที่สะเทือนใจอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน ก็คือ ผู้ปกครองจูงลูกเดินผ่านโรงเรียนเพื่อข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่งเพื่อส่งลูกเรียนในโรงเรียนเอกชน  ผมตั้งคำถามกับตัวเอง  เราเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน  ผลสอบระดับชาติเขาสูง ทำไมผู้ปกครองจึงไม่เลือกที่จะส่งลูกมาเรียน  ช่วงนั้นคะแนนสอบระดับชาติของโรงเรียนอยู่ในลำดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ในเชิงประจักษ์แล้วผมรู้ดีว่า เด็กยังไม่มีวินัยต่อการเรียนมากนัก กำกับตัวเองได้น้อย ไม่ได้เป็นคนคิดเก่งและกล้าคิด ไม่มีสมรรถนะสำคัญสำคัญๆ   ตอนชวนครูเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ครูตั้งคำถามต่อผมว่า “แล้วถ้าคะแนนสอบระดับชาติของเราตกต่ำล่ะ”  ผมบอกว่า “ผมจะรับผิดชอบเองทุกอย่าง”    

แต่การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของต้นสังกัด โรงเรียนรอบข้าง ครู และผู้ปกครองนั้น ต้องอาศัยความเชื่อบางอย่าง ที่ทำให้เรากล้าหาญยืนสู้แรงเสียดทานรอบด้านเพื่อพิสูจน์ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน และอีกอย่างเพราะผมรู้สึกว่าผมมีพี่น้อง ทั้ง ปตท. โรงเรียนเครือข่าย และ ครูทุกคนในโรงเรียน   


ผอ.สมเดช  อ่างศิลา   ผู้แน่วแน่ ทุ่มเท เสียสละ จนงานการพัฒนาการศึกษากลายเป็นงานชีวิต  เพียรพัฒนาตนเอง พัฒนาครู และพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นต้นแบบโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ   สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อำนวยการและครูจำนวนมาก   ทั้งเป็นผู้ขับเคลื่อนขยายผลด้วย PLN  กับโรงเรียนเครือข่ายของรัฐและเอกชนในภาคตะวันออก และ ภาคกลาง  โดยมีการจัดอบรมทั้งในและนอกโรงเรียน  การ Site visit และ การ Coach ทั้ง Onsite และ Online    

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


“ก่อนหน้านี้ ผมเป็นคนเห็นแก่ตัว ตระหนี่ ไม่เสียสละ” และเมื่อโอนจากสายงานบริหารการศึกษามาสู่งานผู้บริหารสถานศึกษา ก็ไม่ได้มีความเข้าใจต่อครูต่อนักเรียนมากนัก  ปัญหาจุกจิกในโรงเรียนก็เยอะแยะมากมายแก้ไม่จบสิ้น  พยายามจะเปลี่ยนครูก็เปลี่ยนยากเหลือเกิน

เมื่อปี 2555 ได้มีโอกาสมาเรียนรู้งานการศึกษาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ นับถึงวันนี้ก็มาเรียนรู้ที่ลำปลายมาศพัฒนาแล้วกว่า 50 ครั้ง  การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทำให้ผมเริ่มตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองจากหลักคิด เปลี่ยนทีละนิด ทีละ 1 เปอร์เซ็นต์ จนปัจจุบันผมแน่ชัดในตนเองว่าต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง  ผมเชื่อว่า “การที่จะเปลี่ยนครู เปลี่ยนเด็ก ๆ ได้จริง ๆ  เราต้องให้ความกรุณาแบบไม่จำกัด”


ผอ.สมศักดิ์ ประสาร เริ่มการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนบ้านปะทายจากปี 2555 ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  โดยใช้นวัตกรรม จิตศึกษา PBL และ PLC ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยามในการทำงานกับครู ผ่าน PLC และ การทำงานกับชุมชน ผ่าน CoP 

ทำงานแบบทำอาชีพ  ให้กลายเป็นงานที่รัก และกลายเป็นงานชีวิต สร้างความหวังและพลังใจให้ครูจำนวนมาก   ทั้งเป็นผู้ลงมือขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาโดยเครือข่าย PLN  ซึ่งเริ่มมีการขับเคลื่อนการขยายผลในปี 2560 เป็นต้นมา  โดยมีการจัดอบรมทั้งในและนอกโรงเรียน  การ Site visit และ การ Coach ทั้ง Onsite และ Online

“รางวัลครูของโลก” ครั้งที่ 3 ปี  4 ธ.ค. พ.ศ. 2566 


การุณ ชาญวิชานนท์

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกรกลึก อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นผู้นำการขยายผลโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC


จากครูผู้สอนจนเป็นผู้บริหาร นานเกือบสามสิบปี รู้จักชุมชนและผู้คนที่นี่ดี รวมถึงเห็นปัญหาของโรงเรียนว่า “ไม่มีเอกลักษณ์” ที่หมายถึงการไม่มีแนวทางการเรียนการสอนที่ชัดเจน ทดลองเปลี่ยนรูปแบบใหม่ที่คนอื่นว่าดีไปเรื่อย ๆ จนจับทิศทางไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วนี่คือปัญหาร่วมของโรงเรียนทั่วประเทศไทย

เห็นเด็กในหมู่บ้านเรียนจบออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเรียนต่อในระดับสูงมีเด็กเลิกเรียนกลางคันเยอะขึ้น บางคนออกไปทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ จึงสรุปปัญหาสำคัญคือโรงเรียนอัดความรู้ให้เด็กจำไปสอบ แต่ไม่ได้สอนให้เด็กฝึกระบบการคิด การเรียนที่ผ่านมาให้เด็กจำโดยไม่ได้ให้เด็กคิด

“กระบวนการเรียนรู้ไม่ได้ให้เด็กฝึกคิดว่านักเรียนคิดอย่างไรกับสิ่งที่เรียน ไม่ได้ฝึกวิเคราะห์ เพราะครูต้องรีบเร่งสอนให้จบตามเนื้อหา หากเราอยากเปลี่ยนเด็ก เราต้องเปลี่ยนวิธีสอน ทำอย่างไรเด็กของเราจะสามารถคิดมากกว่านี้ เห็นความสำคัญของการเรียน เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

เริ่มต้นด้วยการชักชวนเพื่อนร่วมงานคือครูในโรงเรียนมาพูดคุยเพื่อให้เห็นปัญหาตรงกัน เพราะครูเองก็อาจมองว่าตัวเองทำเต็มที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายทั้งทีมก็ต้องเห็นตรงกันว่าถ้าใช้วิธีการเดิม ผลที่ได้ก็เหมือนเดิม หรืออาจแย่กว่าเดิม

ตั้งแต่ปี 2559 จึงใช้การสอนสามแนวทางคือ จิตศึกษา PBL (problem-based learning) และ PLC (professional learning community) จนกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

หลังจากปรับวิธีการสอนมาหลายปี นักเรียนที่ไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นกลับมาเล่าให้ฟังว่า ได้รับคำชมจากครูระดับมัธยมว่านักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงความเห็น สามารถค้นคว้าและนำเสนอได้ดี นี่คือผลลัพธ์ที่ทำให้ได้ยินแล้วชื่นใจ

“ดีใจลึก ๆ ที่เห็นความงอกงามของเด็กกลุ่มนี้ที่ถาม - ตอบได้ดีมากเกินวัยเด็ก ยิ่งสำหรับเด็กที่ได้เริ่มเรียนผ่านจิตศึกษา PBL และภาษาไทยวรรณกรรมกับเรามาตั้งแต่ต้น เราน่าจะได้เห็นวิธีคิดดี ๆ จากเขาอีกเยอะเลย” มันคือความอิ่มใจกับผลที่เกิด

ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ในห้องเรียนและทำให้โรงเรียนโดดเด่นกว่าโรงเรียนอื่นในพื้นที่ ไม่ว่าคณะกรรมการอะไรจะมาเยี่ยมโรงเรียน ไม่เคยจัดนิทรรศการหรือจัดให้เด็กมารำต้อนรับ แต่คำตอบสำหรับผู้ที่จะมาประเมินสถานศึกษาปรากฏชัดเจนอยู่ในห้องเรียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลงานนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียน วิธีคิดและวิธีตอบคำถามของนักเรียน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนทำอยู่แล้ว แม้รูปแบบอาจแตกต่าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่ในการศึกษาสำหรับเด็กไทย

เมื่อเปลี่ยนโรงเรียนตนเองแล้ว อยากให้เด็ก ๆ ที่อื่นได้รับการศึกษาแบบนี้บ้าง จึงมุ่งขยายผล สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายในพื้นที่และนอกพื้นที่

“เรามีเครือข่ายที่แตกยอดออกไปทั้งโรงเรียนข้างนอก มีการเยี่ยมชมกันและกัน แชร์ประสบการณ์ระหว่างโรงเรียน และก่อนเปิดเทอมทุกครั้งจะมีประชุมวางแผนการเรียนการสอน เจาะทีละสัปดาห์จนครบเทอม สิ่งเหล่านี้คือความงอกงามของการมีเพื่อนร่วมทางหัวใจเดียวกัน ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ บางทีคนเดียวก็พอไปได้ แต่ถ้ามีเพื่อนร่วมทาง พวกเราจะไปได้ไวกว่า”

ตลอดเวลาของการเปลี่ยนแปลงเห็นความงอกงามที่เกิดขึ้น เห็นเครือข่ายที่เพิ่มมวลมากขึ้น ทำให้มีพลัง มีกำลังใจ เชื่อแน่ว่าเราต้องพัฒนาการขับเคลื่อนการศึกษาของเราให้เกิดความงอกงามต่อไป โดยต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง



นันทิยา  บัวตรี

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลักเพชร อ.เกาะช้าง จ.ตราด

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นผู้นำการขยายผลโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC


ผอ.โรงเรียนต้นแบบจากระยองมาชวนให้ทำโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ “เริ่มต้นแบบงง ๆ ไม่เข้าใจภาษาของคนกลุ่มนั้นคุยกัน ไม่รู้ต้องเริ่มตรงไหน ถามอะไรก็ไม่บอก” 

ผอ.นิด-นันทิยา บัวตรี ไม่ได้เริ่มจาก Passion แต่ถูกรุน ถูกทำให้รู้สึกน่าท้าทาย เพราะความใคร่รู้ เมื่อรองฯ วิชชา ชวนไปดูงานโรงเรียนต้นแบบที่ระยองนั้นก็ยิ่งว้าวตรงที่เป็นวิธีใหม่ เป็นนวัตกรรมใหม่ ไม่เคยรู้มาก่อนโดยเฉพาะจิตศึกษาและ PBL ที่แสดงผลถึงตัวเด็กและครูจริง ๆ ในใจคิดว่า “เอาว่ะ ในเมื่อเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ” เริ่มคุยกับครู จะทำอย่างไร จะทำร่วมไหม แต่แค่ถามเพราะเรามีใจอยากเปลี่ยนแล้ว และแอบบอกครูว่าใครไม่อยากทำให้เขียนย้ายได้ ตนเองแน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเปลี่ยนนักเรียนได้ (เดิมเด็ก ๆ ที่ชุมชนนี้ใช้ความรุนแรง ทะเลาะ ชกต่อยกัน พกอาวุธ เช่น มีดมาโรงเรียน เป็นต้น) เมื่อทำมาสักระยะ เห็นครูสุวรรณาที่ต่อต้านเริ่มอ่อนลง ซึ่งตอนนั้นก็มีเพียงครูกลุ่มประถมศึกษาที่ร่วมทำ ส่วนครูอนุบาลและมัธยมนั้นไม่ทำเลย ซึ่ง Loop ของการย้อนคิดลังเล “ทำ-ไม่ทำ” มันวนมาหลายรอบมาก แต่หลังจากที่ครูสุวรรณาหันมาร่วมทำ เลยตัดสินใจประกาศว่าจะทำ ไม่สนใจกลุ่มครูที่ไม่ทำแล้ว ครูคนใดที่อยู่ที่นี่ต้องได้ไปอบรมตามกระบวนการ ไม่อยากไปก็ต้องย้ายไป ไม่อยากย้ายก็ต้องเข้าร่วม ผลักแบบนี้เลย ในช่วงแรก ๆ ส่งครูมาอบรมที่ลำปลายมาศพัฒนาแบบสลับกันทุกรอบ ส่งซ้ำ ๆ ส่งแล้วส่งอีก ส่งเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะกลับมาแล้วเปลี่ยนตนเอง และสุดท้ายมุ่งเป้าไปที่เด็ก ถามเด็ก ๆ ว่า “ชอบการเรียนรู้แบบไหน แบบใหม่หรือแบบเดิม” เด็ก ๆ บอกชอบแบบใหม่ เพราะครูใจดี มีความสุขที่ได้พูดได้สื่อสารกับครู ครูรับฟังมากขึ้น คำพูดของเด็ก ๆ เป็นแรงที่ทำให้เราบอกกับตนเองว่า “เราต้องทำต่อ ต้องไปต่อ” และจากที่เราทำต่อเนื่องมาสักระยะ เราไม่เห็นนักเรียนชกต่อย ทะเลาะกัน เอาอาวุธมาโรงเรียนหายไป ซึ่งก่อนหน้านี้มันคือปัญหาที่กัดกินใจเรากับความคิดทีว่า “คนบ้านเดียวกัน ทำไมต้องทะเลาะกัน” หายไป การเปลี่ยนนี้เกิดแบบไม่รู้ตัวไม่รู้ว่าเกิดตอนไหน แต่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น ที่ทำให้เรายิ้มได้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางที่ดี

การร่วมเรียนรู้ร่วมกับครู คอยหนุนเสริมครู คืออีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาได้ มีอะไรคุยกัน ทำด้วยกัน เรียนรู้ร่วมกัน เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน “ความเป็นผู้นำทางวิชาการ” ของผู้อำนวยการก็สำคัญ หากช่วยครูคลี่คลายได้ ครูก็พร้อมจะเดินก้าวไป ดังนั้น ผอ. จึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง นวัตกรรมที่นำมาใช้ เพื่อให้มีความเข้าใจ เมื่อวิพากษ์แผนจะได้แนะนำครูได้

ครูเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน บรรยากาศในโรงเรียนเปลี่ยนก็สะท้อนผลไปยังชุมชน อยากให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ผอ.นิด บอกกับผู้ปกครอง ชุมชน เสมอว่า “นักเรียนสลักเพชรคือลูกหลานของเขา ผอ. หรือ ครู คือบุคคลภายนอก” การจะให้เด็กสลักเพชรเป็นแบบไหน ชุมชน มีผล ในฐานะบริบทซึมซับ ซึ่งหลังจากที่เปิดบ้าน Open House ที่ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาเห็นเด็ก ๆ ก็ทำให้เกิดการรับรู้และให้ความร่วมมือที่ดีตามมา

“ก่อนหน้าเราทำนวัตกรรมหลายอย่างมากเลย แต่ตอนนี้ทุกอย่างหายไป แต่สิ่งที่ทำ ณ ปัจจุบัน จิตศึกษา PBL PLC ภาษาไทยวรรณกรรม กลับส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนทุกมิติ” จากวันนั้นจนถึงวันนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ด้วยความร่วมมือจากทั้งในและนอกโรงเรียน สร้างการรับรู้และสร้างเครือข่ายได้เป็นอย่างมาก ไม่น่าเชื่อแต่มันก็เกิดขึ้นจริงเราทำงานทุกวัน แต่เราก็มีความสุข มีพลัง อยากทำต่อ พัฒนาต่อ ขยายผลต่อ ให้เกิดผลได้อย่างเต็มที่

ตอนนี้โรงเรียนวัดสลักเพชร ได้กลายเป็นโรงเรียนต้นแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นพื้นที่อบรมให้กับโรงเรียนรัฐจำนวนมาก

“เราทำงานกับโรงเรียนของชุมชน เราจึงมาเพื่อทำให้ ไม่ใช่มาเอา” คำบอกเล่าที่บ่งบอกถึงความเป็น “ผู้รัก” ที่แท้จริง


พิมพิมล  แสนนาม

ครูโรงเรียนบ้านหนองกอมป่าขาว อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นครูผู้นำทางเด็กด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ ภาษาไทยวรรณกรรม 


ครูอ้อย-พิมพิมล แสนนาม เริ่มต้นใช้นวัตกรรมโดยเรียนรู้จากยูทูป หลังจากที่ผู้บริหารโรงเรียนยอดชาดวิทยา จ.นครพนม ได้มีแนวทางในการนำนวัตกรรมเชิงระบบทั้งจิตศึกษา PBL และ PLC มาใช้ที่โรงเรียน

“ชอบลอง ชอบเรียนรู้” เมื่อมีโอกาสในการเรียนรู้ก็จะลองทำก่อน ไม่ปฏิเสธ “เอาน่ะ ลองดู ลองทำก่อน”

ช่วงแรก ๆ ทำจาก “จิตศึกษา” ทำในห้องเรียนของตนเองก่อนแล้วชวนเพื่อนครูในชั้นเรียนช่วงชั้นเดียวกันมาร่วมทำด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ได้อะไรมาก จนมีโอกาสมาสังเกตที่ลำปลายมาศ ได้รับการอบรมตามกระบวนการ เริ่ม “อ๋อ” เห็นแนวทางมากขึ้น

จากจิตศึกษา สู่ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม มันคือการเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง แต่เป็นคนที่ชอบลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่แล้ว เพื่ออยากนำกระบวนการ วิธีการ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการพัฒนานักเรียนและต้องการคลี่คลายข้อสงสัยว่า “ทำแล้วมันได้ผลจริงเหรอ นักเรียนจะได้จริงหรือ?”

ในช่วงโควิด 19 ได้อยู่ที่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียน มีเวลาในการทบทวนตนเอง ค่อย ๆ ไล่เลียงความเข้าใจกระบวนการสร้างการเรียนรู้ ได้ทบทวน ได้เติมต่อ และเมื่อได้เข้าฟังในการเรียนรู้ออนไลน์ มันประจวบเหมาะกันพอดีเราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ยิ่ง “ฮึด” ขึ้นมา คราวนี้นัดเด็กนักเรียนห้องตนเองมาเรียนรู้ที่โรงเรียนเลย แล้วจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างที่เราเข้าใจอย่างเต็มที่ แต่ผลลัพธ์ก็ยังเกิดไม่มากนัก อาจด้วยความพร้อมหลาย ๆ มิติในช่วงสถานการณ์โควิด

เมื่อย้ายมาที่โรงเรียนบ้านหนองกอมป่าขาว จ.สกลนคร ได้รับโอกาสดีจาก ผอ.ชัยณรงค์ ที่เปิดโอกาสให้ทำได้อย่างเต็มที่ “ทำเต็มที่เลยครูอ้อย ผมจะคอยสนับสนุน” ถ้อยคำจากผู้บริหารและเชื่อมกับความรู้ความเข้าใจประสบการณ์ที่ครูอ้อยได้ทดลองทำมา คราวนี้ลงมือเต็มที่ ทุกกระบวนการ ด้วยความตั้งใจ เมื่อได้ทำสิ่งใดเราก็ทำอย่างเต็มที่เพราะต้องการพัฒนานักเรียน “นักเรียนทุกคนในห้องต้องได้รับการพัฒนา ไม่มีใครถูกทิ้ง” เด็กที่เราดูแลมีความหลากหลาย ความพร้อมต่างกัน บริบทรอบข้างต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่กับเรา เราในหน้าที่ของครูต้องหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เดิมทีนั้นเด็กในชั้นเรียนมีเด็กที่เรียนรู้ช้า อ่านและเขียนช้า ไม่อยากเรียน กลัวครู ซึ่งอาจจะคุ้นชินกับท่าทีครูในแบบเดิม การเรียนการสอนแบบเดิม แต่เมื่อครูเปลี่ยนท่าที เปลี่ยนวิธีสร้างการเรียนรู้ ใส่ใจ ไม่ทิ้งและทำอย่างเป็นวิถีสม่ำเสมอมา ผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน เด็กๆ นิ่งขึ้น รู้หน้าที่ กำกับตนเองในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น คิดวิเคราะห์ สื่อสารได้ ชอบอ่าน สามารถสื่อสารสิ่งที่อ่านได้อย่างมีเหตุผล เด็กที่ไม่สนใจการเรียน กระตือรือร้น อยากรู้อยากเรียนมากขึ้น เด็กที่อ่านช้า เขียนช้า เมื่อผ่านการเรียนรู้ภาษาไทยวรรณกรรม พบว่าเด็กกลุ่มนี้พัฒนาตนเองขึ้นมาก อ่านได้ เขียนได้ กล้าแสดงความคิดเห็น ถามตอบ สื่อสารกับเราได้ มันคือความปิติของคนเป็นครูแล้ว

เมื่อได้เห็นเด็กที่ไม่พูด กล้าพูด สามารถสื่อสารได้อย่างมีเหตุผล เด็กที่ไม่สนใจเรียนรู้ ไม่มีเป้าหมายต่อการเรียนรู้ เมื่อผ่านวิถีจิตศึกษา การเรียนรู้ PBL การเรียนรู้ภาษาไทยวรรณกรรม ทำให้เขาอยากมาโรงเรียน สนใจทำงานกับเพื่อนๆ มีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูอ้อยอยากเข้าโรงเรียน อยากมาเจอเด็กๆ อยากมาทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหมายกับนักเรียน และพบว่าการมาโรงเรียนนั้นทำให้ครูอ้อยมีความสุข ยิ้ม หัวเราะ ด้วยความอิ่มใจ นักเรียนเองก็มีความสุข จนทุกวันนี้ทั้งครูและนักเรียนอยากมาโรงเรียนแทบทุกวัน ไม่อยากมีวันหยุดเลย 


พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นผู้นำโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC บนดอยสูง 


“เราเชื่ออย่างหมดใจว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แม้ต้นทุนเขาไม่พร้อมสักแค่ไหน หรืออยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ถ้าครูเชื่อมั่น แล้วหาทางผลักดัน สนับสนุน สุดท้ายแล้วไม่ว่าโจทย์ยากเท่าไหร่ ลำบากห่างไกลเพียงใด เขาจะพบวิถีทางในการพัฒนาตนเองจนได้”

ผอ.หวาน-พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ ผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่ใจใหญ่ ที่มุ่งพัฒนาเด็กบนดอยสูงกับความท้าทายกับบทบาทของผู้บริหารใหม่ที่กล้าตัดสินใจนำครูสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยความมุ่งมั่น ส่งผลให้โรงเรียนบ้านห้วยปูลิงกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ได้

“เริ่มแรกการเปลี่ยน คือเปลี่ยนที่ตนเองก่อน มีโอกาสได้อ่านหนังสือ “คนบนต้นไม้” เห็นรูปแบบวิธีการในการจัดการปรากฏการณ์ที่ต้องไล่ระดับไปถึงต้นตอนั้น ๆ ซึ่งมองว่าการศึกษาก็เช่นกัน หากจัดการตั้งแต่ต้นตอข้างล่างของปรากฏการณ์ น่าจะเกิดผลที่ยั่งยืนกว่า และเมื่อได้มาอบรมหลักสูตร TRUE LEADER #9 และกลับไป ได้ใคร่ครวญ ทบทวน ย้อนดูตนเอง ทำให้ได้รู้จักตนเองมากขึ้น เข้าใจตนถ่องแท้ขึ้น ทั้งความคิดต่าง ๆ และเริ่มเรียนรู้เข้าใจผู้คนรายรอบอย่างเข้าใจมากขึ้น ประจวบโอกาสเหมาะปี 2560 จึงเริ่มดำเนินการใช้นวัตกรรมโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่โรงเรียน ได้เปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนวิถี ชวนครูทำพร้อมทำร่วมกับครู ซึ่งครูก็มีหลากหลายบางคนพร้อม บางคนไม่พร้อม แต่ส่วนใหญ่ก็ร่วมทำ ทำแบบบ่น ๆ ปนสงสัยบ้าง แต่ก็ร่วมดำเนินการแบบงม ๆ กันไปก่อน คละกับความสงสัย “มันจะได้ผลจริงหรือ” แต่ระหว่างทางที่ทำนั้นได้พูดคุยกับครูอย่างสม่ำเสมอ หาวิธี หาแนวทางร่วมกัน จนประมาณ 1 เทอม ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่มีเสียงออด ไม่มีเสียงระฆัง แต่นักเรียนมาเรียนอย่างรู้เวลา รู้วิถี “เฮ้อ..เห็นทางล่ะ” เริ่มยิ้มออกกัน

“เมื่อครูได้ลงมือทำ แล้วเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับครู คือ พบว่าครูเปลี่ยนพฤติกรรม เสียงเบาลง ท่าทีเปลี่ยน การพูดคุยเปลี่ยน การจัดการเรียนการสอนเปลี่ยน คุยกันเพื่อพัฒนางานพัฒนานักเรียนมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนนี้ ส่งผลให้ชั้นข้างล่างของครูเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนซึ่งแต่ละคนใช้เวลาการเปลี่ยนไม่เหมือนกัน” เมื่อครูเปลี่ยนก็นำสู่การเปลี่ยนแปลงกับนักเรียน

เมื่อครูเปลี่ยน “ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่มีการชี้ถูกผิด มีการเสริมพลังด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้เด็กเห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง รักที่จะเรียนรู้ เหล่านี้คือสิ่งที่จิตศึกษาเป็นจุดคานงัดให้ความเปลี่ยนแปลงปรากฏ” นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มาเรียนด้วยความสุข มีความมั่นใจ รู้ตัว กล้าพูดกล้าสื่อสารอย่างมั่นใจ ซึ่งโดยปกตินั้นเด็กบนดอยสูง จะขาดความมั่นใจในการใช้ภาษาสื่อสาร กลัวถูกล้อเพราะสำเนียงไม่ชัด นอกจากนี้ความคิดของนักเรียนบางคน ทำให้รู้สึกได้ว่า “ว้าว” เขาคิดได้มากกว่าที่เราคิดหรือเป็นความคิดที่เราคาดการณ์ไม่ถึง “เขาคิดได้อย่างไร” ซึ่งความคิดของเด็ก ๆ นั้น มีเหตุมีผล และที่สำคัญ พบว่านักเรียนนั้นมีเป้าหมายในชีวิตมากยิ่งขึ้น สามารถบอกได้ เล่าสื่อสารได้ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ 

จากสิ่งที่ทำ มันมีความท้าทายแทรกแซงมาเป็นระยะ ๆ แต่เราต้องทำอย่างมีสติ รู้เท่าทัน จัดการความคิดจัดการชีวิตอย่างมีระบบ “ถ้าเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ มันไม่เหมือนการทำงาน แต่เป็นการใช้ชีวิต มีความ Flow ไปอย่างมีความสุข เมื่อมีอุปสรรค ก็เพียงมองหาวิธีในการจัดการ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง ก็ทำให้ทำงานได้อย่างเป็นสุข” 

ผลลัพธ์ที่เกิด เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งตัวเราเอง ครู นักเรียน โรงเรียน เราพบว่า “ใช่” พบว่า “มาถูกทางแล้ว” เราก็จะไม่เสียเวลา “ต้องก้าวเดินต่อ“ สานต่อให้เกิดอย่างต่อเนื่องและดีมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนานักเรียน พัฒนาโรงเรียน อีกทั้งขยายผลสู่โรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้เด็ก ๆ บนดอยได้รับโอกาสในการพัฒนาเพื่อยกระดับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดำเนินงาน


สังคม  อินทร์ขาว

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาขนวน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นผู้เริ่มต้นการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC ในโรงเรียนรัฐ


ผมมีโรงเรียนในอุดมคติที่อยู่ในภาพฝันอยู่แล้ว ผมศึกษาดูงานโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั่วไทย แต่ยังตามหาไม่พบ จนกระทั่งวันหนึ่งในปี พ.ศ.2551 ได้มาศึกษาดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ตอบโจทย์ภาพฝันที่อยากเห็นมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ที่ประทับใจคือผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ ชิ้นงานภาระงานของผู้เรียน กิจกรรมจิตศึกษาที่ บ่มเพาะเพื่อทำงานกับฐานใจของเด็ก ท่าทีการสอนของครูตลอดจนบริบททั่วไปซึ่งตอบโจทย์ภาพฝันเและอยากให้มีโรงเรียนแบบนี้จำนวนมาก ๆ จังเลย

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำสิ่งที่ได้เห็น ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ที่โรงเรียน “เริ่มจากพาครูทุกคนมาสังเกตการณ์สอนห้าวัน วันสุดท้ายของการดูงาน ตั้งคำถามกับครูว่าประทับใจอะไร คำตอบที่ได้คืออยากให้โรงเรียนเราเป็นแบบนี้ ครูเสนอว่า Copy แผนการสอนทุกชั้น ทุกแผน ไปให้ครูใช้”

ช่วงแรก ๆ คุณครูต้องเรียนรู้และปรับตัวมาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย เพราะเรามีแผนการสอนที่ Copy แล้ว เราก็ทำตามนั้นแต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณครูเริ่มเรียนรู้จากกันและกัน คุณครูเริ่มเห็นและเล่าถึงสิ่งที่ประทับใจที่เกิดจากการสอนในแต่ละสัปดาห์ ได้เห็นนักเรียนของตนเองเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งความสุขนี้จะนำไปสู่การรักที่จะเรียนรู้ของเขาในอนาคตเมื่อเราเริ่มตอบโจทย์การเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ ทำให้ครูมีความสุขกับการทำหน้าที่ของตนเองไปด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงนั้นเราได้ขอให้ผู้ปกครองทุกคนมาประชุมทำความเข้าใจเป้าหมาย และวางแผนการทำงานร่วมกัน จากนั้นก็จัดกระบวนการเรียนรู้จำลอง โดยสมมุติให้ผู้ปกครองเป็นนักเรียน แล้วดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับจัดให้กับนักเรียนทุกอย่าง โดยใช้เวลาตลอดทั้งวัน ก่อนกลับบ้านให้ผู้ปกครองเขียนบันทึกสิ่งดีๆ ที่อยากจะบอกลูก บอกครู บอกผู้บริหาร แล้วนำไปติดบอร์ดในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้ ผู้ปกครองเข้าใจกระบวนการทำงานของครู และเข้าใจว่าจะต้องส่งเสริมลูกหลานเรียนรู้ได้ดีอย่างไรในขณะที่เขาอยู่บ้าน

เดิมโรงเรียนบ้านนาขนวนจัดการเรียนรู้โดยวิธีการบอกความรู้และฝึกให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัยโดยการบังคับ ซึ่งทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดความสุขในการเรียนรู้ ปัจจุบันโรงเรียนบ้านนาขนวนจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทุกรายวิชา ได้รับการยอมรับให้เป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับทักษะในศตวรรษที่ 21 และโรงเรียนต้นแบบขยายผลนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Node) โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

ผมเชื่อว่า “อาวุธที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในการพัฒนามนุษย์คือการศึกษา” หัวใจของอาวุธคือการจัดกระบวนการเรียนรู้ หัวใจของการจัดการเรียนให้ประสบผลสำเร็จคือครู หัวใจของความเป็นครูคือความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเรียนรู้ หากโรงเรียนดำเนินการตามแบบนี้ได้โอกาสโรงเรียนพัฒนาได้นั้นย่อมเกิดผลต่อผู้เรียนแน่นอน


วิชชา ครุปิติ

รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด

รางวัลครูของโลก ปี 2566 ในฐานะเป็นผู้นำบันดาลใจให้เกิดโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC 


มาทำอะไรที่ลำปลายมาศพัฒนาเกือบสี่สิบครั้งแล้ว?

เริ่มต้นแค่สนใจเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเท่านั้น แต่เมื่อพบสิ่งสำคัญก็อยากหยิบยื่นสู่การขับเคลื่อนโรงเรียนในพื้นที่

“อยากหาคำตอบ อะไร กระบวนการใด นวัตกรรมใดที่จะพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ที่สัมผัสได้จริง”

เริ่มจากการเรียนรู้ แสวงหาคำตอบด้วยตนเองก่อน หาอย่างหลากหลายมากในตอนนั้น ไปเรียนรู้ทุกที่ที่เขาว่าดี ก็มักมีคำถามว่า “นี่ใช่แล้วหรือ? ช่วยพัฒนาผู้เรียนจริงหรือ” แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับการจัดการเรียนการสอนที่ลำปลายมาศพัฒนา พบว่า “นี่ใช่ล่ะ” เมื่อตนเองเกิดความเข้าใจระดับหนึ่งแล้ว จึงเริ่มชักชวน ผอ. และครู ในพื้นที่ ที่สนใจหรือเห็นว่ามีโอกาสในการพัฒนาเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย

อะไรที่คิดว่า “ใช่”

การจัดการศึกษาโดยทั่ว ๆ ไป ดำเนินการตามโครงสร้าง หรือ ระบบใหญ่กำหนด แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ที่ลำปลายมาศพัฒนา ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาภายใน หรือ การพัฒนาจิตใจ เข้ามาสร้างการเรียนรู้ด้วย เป็นการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมการพัฒนาผู้เรียนทุกมิติด้วยนวัตกรรมที่เรียบง่าย อีกทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาสมองที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเกิดผลปรากฏชัดจริง

แรก ๆ กับการชวนโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้ร่วมนั้น มันไม่ง่าย แต่พอนำสู่การปฏิบัติ เป็นวิถี โรงเรียนที่ ผอ. มีความเข้มแข็ง ร่วมเรียนรู้กับครู เป็นผู้นำทางวิชาการ คอยหนุนเสริม สร้างความเข้าใจ ทำ PLC อย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้ร่วมกันกับเครือข่ายสม่ำเสมอ ส่งผลให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ซึ่งสัมผัสได้จริง เช่น เมื่อเดินเข้าไปในโรงเรียนบรรยากาศ สถานที่ เด็ก ครู ล้วนเป็นสนามพลังบวก ชิ้นงานที่มาจากการเรียนรู้ของนักเรียน คือ ป้ายนิเทศที่เป็นนิทรรศการการเรียนรู้ นักเรียนกล้าคิดกล้าแสดงออก ถามแล้วตอบสื่อสารได้อย่างสมเหตุสมผล กระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ แววตามีความสุขต่อการเรียน ครูเปลี่ยนทั้งท่าที คำพูด การปฏิบัติ ซึ่งเป็นวิถีที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ มันคือองค์กรที่วิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่สัมผัสจับต้องได้อย่างชัดเจน

ตลอดเวลาที่หนุนเสริมและร่วมเรียนรู้ไปกับโรงเรียน ผอ. ครู และ เด็กๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นก็ทำให้อิ่มใจ ภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ มีความสุขกับการ Support ติดตาม Empower หรือ Coach เพื่อให้โรงเรียนมั่นใจ และเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้อย่างแท้จริง กับช่วงเวลาราชการที่เหลือนี้ก็อยากใช้โอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่