รางวัลครูของโลก

“เด็กเอ๋ย

  เมื่อเธอปรากฏขึ้น ครูจึงได้ปรากฏขึ้น

  เมื่อครูได้รู้จักเธอ ครูที่แท้จึงก่อตัวขึ้น

  แต่เมื่อเข้าใจเธอที่แท้ เธอคคือครูของครู”

 

“รางวัลครูของโลก” เริ่มต้นจากเรื่องราวของครูมะ-มยุรา ณ วงศ์ จากโรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง ผู้ได้รับรางวัลครูของโลก ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2564

เดิมทีครูมะเป็นครูสอนแบบเดิม ๆ เสียงดัง เข้มงวด ดุ มักกะเกณฑ์ มักตัดสิน ทำให้นักเรียนขยาด เพียงแค่ครูมะเอ่ยชื่อเรียกมาหานักเรียนก็ถึงกับร้องไห้  แต่เมื่อครูมะได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ได้ใช้จิตวิทยาเชิงบวก ได้เปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ ได้บูรณาการการเรียนรู้  ได้ใช้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม  นักเรียนก็เปลี่ยนไปเป็นผู้กระตือรือร้นต่อการเรียน  มีความคิดสร้างสรรค์  มีความคิดวิจารณญาณ  เห็นอกเห็นใจคนอื่น  เคารพกันและกัน  จนการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนก้าวหน้าอย่างมาก

จากความตระหนักรู้ สู่การตื่นรู้  ครูมะเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตความเป็นครู  มีจิตใหญ่  เห็นแก่เด็ก  เห็นแก่คนอื่น  เห็นแก่ส่วนรวม  ครูมะจึงเป็นแรงบันดาลใจ  และเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้ครูอีกหลายคนได้ตื่นรู้เหมือนกับตน

แต่ครูแบบอย่างนี้มักไม่ถูกมองเห็นโดยง่าย  เพราะสิ่งสำคัญจริงมักอยู่นอกเกณฑ์  อยู่เหนือตัวชี้วัด  หลบซ่อนจากสายตาธรรมดา

 

“รางวัลครูของโลก” ก่อตัวขึ้นเพื่อชุบชูบูชาครูผู้เข้าถึงความหมายของ “ครูที่แท้”  

“รางวัลครูของโลก” คือตัวแทนของมนุษย์ตัวน้อย ๆ กับหัวใจดวงใหญ่เพื่อมอบให้ครูผู้เข้าถึงความหมายของ “เธอที่แท้”


ำปลายมาศพัฒนา


“รางวัลครูของโลก” ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2564 

ครูมะ-มยุรา ณ วงศ์  โรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง



“จากครูผู้เข้มงวด สู่ครูผู้ตื่นรู้”

เดิมทีครูมะเป็นครูสอนแบบเดิม ๆ เสียงดัง เข้มงวด ดุ มักกะเกณฑ์ มักตัดสิน ทำให้นักเรียนขยาด เพียงแค่ครูมะเอ่ยชื่อเรียกมาหานักเรียนก็ถึงกับร้องไห้ 

แต่เมื่อครูมะได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่  ได้ใช้จิตวิทยาเชิงบวก  ได้เปลี่ยนการจัดการเรียนรู้  ได้บูรณาการการเรียนรู้  ได้ใช้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม  เมื่อครูเปลี่ยนนักเรียนก็เปลี่ยนไป นักเรียนกล้าเข้าหาครูมากขึ้น มีความสุขในการเรียน ครูเองก็มีความสุข เปลี่ยนการตัดสินเป็นการเปิดโอกาส นักเรียนก็กระตือรือร้นต่อการเรียน ร่วมคิดร่วมแสดงออก  มีความคิดสร้างสรรค์  มีความคิดวิจารณญาณ  เห็นอกเห็นใจคนอื่น  เคารพกันและกัน  จนการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนก้าวหน้าอย่างมาก 

จากความตระหนักรู้ สู่การตื่นรู้  ครูมะเปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตความเป็นครู  มีจิตใหญ่  เห็นแก่เด็ก  เห็นแก่คนอื่น  เห็นแก่ส่วนรวม  ครูมะจึงเป็นแรงบันดาลใจ  และเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้ครูอีกหลายคนได้ตื่นรู้เหมือนกับตน 



ครูมะ-มยุรา ณ วงศ์ โรงเรียนวัดเนินกระปรอก จ.ระยอง


ตอนผมเข้าเรียนปอหนึ่งกับเพื่อนยี่สิบสี่คน  แต่ละคนจะมีถุงหรือย่ามคนละแบบเอาไว้ใส่กระดานชนวนคนละแผ่น  ห้องเรียนที่เป็นเพิงไร้ผนัง  พื้นเป็นทรายจะใช้เท้าเปล่าขีดเขี่ยเล่นด้วยก็ได้  ที่นั่งเรียนใช้ปีกไม้ตีเป็นโต๊ะทั้งม้านั่งตัวเหยียดยาว นั่งกันได้เจ็ดแปดคน

แต่ละวันครูอุบล   ชายตัวอวบอ้วนท่าทีอบอุ่น ใจดี  จะพาเราขีดเขียนตัวอักษรทั้งตัวเลขในกระดานชนวน  เขียนแล้วลบ  ลบแล้วเขียนรอบแล้วรอบเล่า  จนเราเองจำไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้นได้เขียนอะไรลงไปบ้าง

เมื่อได้ยินเสียงกลองเพลจากวัดที่อยู่ฟากทุ่งนา  ครูจะให้เราวางทุกอย่าง  แล้วมาต่อแถวเดินไปสู่ริมห้วยหลังโรงเรียน  เดินไกลโขเทียบแม่ไก่คงต้องบินหลายครากว่าจะถึง   บนรายทางครูสอนเรารู้จักต้นไม้ที่จะเด็ดใบใช้ทำเป็นจอกสำหรับตักน้ำดื่มในบ่อดินริมลำห้วย   ต้นไม้ไม่เคยตระหนี่  ทุกวันเราจะได้เด็ดใบไม้ใบใหม่คนละใบทำจอกอันใหม่  เพื่อตักน้ำซับจากพื้นดินที่ไม่เคยเหือดแห้ง

สิ้นปีนั้นครูย้ายกลับบ้าน  ส่วนผมได้เลื่อนชั้นปอสองแม้ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น  แต่ผมก็พับจอกใบไม้เป็น  เดินไปสู่บ่อน้ำและตักรินน้ำดื่มเองได้   ได้รู้สำนึกถึงคุณของจอกใบไม้แต่ครูไม่เคยมาทวงคุณจากเราเลย

.............

จอกของครู  จึงกระตุ้นให้เราเรียนรู้ที่จะสร้างเครื่องมือเลี้ยงชีพให้อยู่รอดให้ได้

จอกของครู  สอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติไม่ตระหนี่ขี้เหนียว  แต่ก็ไม่มีอะไรมากเกินไปหรือน้อยเกินไป  ทั้งให้ตระหนักว่าเรายังต้องพึ่งพาและเกื้อกูลธรรมชาติ  

จอกของครู  สอนเราวางใจต่อชีวิต มีหลายอย่างที่ไม่อาจครอบครองได้ และบางสิ่งที่ครอบครองได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว 

จอกของครู  รุนเราไปสู่ความสงสัยใคร่รู้ต่อโลกและต่อสิ่งต่าง ๆ  นำเราเชื่อมต่อกับผู้คนที่ไกลกว่ารั้วบ้านอันครับแคบ ไกลกว่าหมู่บ้านอันคับแคบ 


ในที่สุด “จอกใบไม้” ของครูจะนำเรากลับบ้าน  และ กลับไปสู่พื้นดินที่เรามา

...................

วิเชียร  ไชยบัง

เนื่องในงาน “ครูของโลก ครั้งที่ 2”


ครูของโลกครั้งที่ 2

ครูของโลกในฐานะผู้นำในการจัดการเรียนรู้ที่แท้ให้กับผู้เรียน


“แรงปรารถนาที่แรงกล้าภายในใจของเรา ที่ต้องการเห็นลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าประสบผลสำเร็จในชีวิต สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกแห่งความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้  ทั้งยังอยากแบ่งปันหลักคิดและกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบที่นำไปสู่กาเรียนรู้สู่ความสำเร็จนี้ไปถึงเพื่อนครูคนอื่น ๆ ด้วย เราอาจจะเป็นแค่พลังเล็ก ๆ แต่เมื่อครูหลายคนกล้าเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ในสักวันหนึ่ง”

ครูติ๊ก-ฉัตรวรีย์ บุญสิริเกียรติ ครูผู้เปลี่ยนแปลงตนเอง จากครูผู้สอนสู่ครูผู้สร้างการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงตนเอง ในฐานะที่เป็นครูด้วยใจรักในวิชาชีพนี้ ต้องการพัฒนานักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา ความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข จึงต้องพัฒนานักเรียนแบบองค์รวมเพื่อให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาภายในและปัญญาภายนอก ใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาภายในทั้งต่อตัวเอง นักเรียนและใช้กับผู้ปกครองด้วย พัฒนาปัญญาภายนอกของนักเรียนด้วยนวัตกรรม PBL (Problem Based Learning) บูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ การสอนภาษาไทยผ่านวรรณกรรมสู่การคิดขั้นสูง และจะนำการสอนคณิตศาสตร์แบบ Pro-Active มาพัฒนาการเรียนรู้ ต่อยอดให้กับนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูภาษาอังกฤษใช้แอพพลิเคชั่น จะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษกับนักเรียนในทุก ๆ วัน สำหรับการพัฒนาครูและพัฒนาองค์กรใช้นวัตกรรม PLC เพื่อให้ทุกคนได้ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่จะสอน มีทักษะการจัดการเรียนการสอน และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้โดยจะทำให้เข้มข้น เข้มแข็ง มีคุณภาพและต่อเนื่องสม่ำเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร “สิทธิผลหงายกะลา” 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเพียรพยาม และทำจริงจังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูติ๊กคือครูต้นแบบ ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ  ครูผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา อีกทั้งขยายผลทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่  มีเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่นครพนม 57 โรงเรียน ที่สนใจนวัตกรรมทั้งจิตศึกษา PBL และ ภาษาไทยวรรณกรรม ในโอกาสที่ได้เป็นโค้ชขยายผลการพัฒนา ครูติ๊กยังเป็นนักเรียนรู้ พัฒนาตัวเองด้วยฝึกฝนอย่างเสมอ และยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือตามกำลังสติปัญญา เป็นดาวเหนือและเพื่อนร่วมทางให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป 




ครูของโลกในฐานะผู้ยืนหยัดในการจัดการเรียนรู้ที่แท้ให้กับผู้เรียน


“เมื่อเราใช้ความรักในการทำงาน ไม่ว่าเราจะเจออุปสรรค ปัญหาอะไร เราก็จะผ่านไปได้ เพราะเราจะไม่ทิ้งความรักอันมีค่านั้นไปอย่างแน่นอน เราให้ความรักกับเด็ก เราก็จะดูแลเขาเอาใจใส่เขา ใส่ใจเขา ให้เขาได้รับความรัก รับความสุข รับพลังจากเรา เขาจะเติบโตอย่างแข็งแรง เรารักโรงเรียน เราก็จะพัฒนาโรงเรียน ตรงไหนสกปรกอยู่เราก็เข้าไปทำ ตรงไหนขาดเราก็เข้าไปเติม เรารักเพื่อนครู เราก็จะให้อภัย ให้ความช่วยเหลือ  ให้พลังบวก เรารักและเข้าใจคนในครอบครัว ครอบครัวจะรักและเข้าใจเราเช่นกัน ความรักจะช่วยขับเคลื่อนทุกอย่างให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ”


ครูส้ม-ภัทร์รวี  สุขโทน  ครูผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่กล้าเปลี่ยน เพื่อพัฒนาการศึกษา เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งมุมมอง Mindset การจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้สร้างการเรียนรู้  เปลี่ยนทีละนิดทีละน้อยในสิ่งที่สามารถทำได้ ท่ามกลางของเพื่อนครูในโรงเรียนที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าครึ่งของครูทั้งหมด  ค่อยทำ ค่อยเปลี่ยนในชั้นเรียนตนเอง เปลี่ยนผู้เรียนในแบบที่ตนเองวาดฝันอยากได้ กล้าคิดกล้าแสดงออก มีเหตุมีผล  รักในการเรียนรู้ เมื่อครูเปลี่ยนเด็กเปลี่ยนเชิงประจักษ์ จึงค่อยขยายสู่เพื่อนครูในโรงเรียนที่สนใจ ชักชวนให้ลองทำ เป็นพี่เลี้ยง ที่คอยให้คำแนะนำ จากครูห้องนี้สู่ครูห้องนี้ จนมีกลุ่มครูผู้เปลี่ยนแปลงที่เป็นแกนนำในโรงเรียน  ผอ. เอื้อหนุน เมื่อมีโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตนเองจะเข้าร่วมกับลำปลายมาศพัฒนาทุกครั้ง ชวนเพื่อนครูมาด้วยสลับกลุ่มกันไป มาแล้วไปบอกเล่าให้ ผอ.ฟัง วางแผนกับเพื่อนครูว่าจะทำอย่างไรต่อที่โรงเรียนของเรา  ลงมือทำกับผู้เรียน ทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ครูส้มเป็นโค้ชหลักที่สำคัญของโรงเรียน  อีกทั้งเป็นโค้ชหลักในการขยายผล ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ครูส้มกลายเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูอีกหลายๆ คน เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคกลาง


“ท่ามกลางสายตาอับเคลือบแคลงของผู้คน เรายังเชื่อใจและศรัทธาต่อตัวเองอยู่ไหม? นั่นล่ะ ที่จะสร้างความแตกต่าง”

 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ที่เริ่มการเรียนรู้เพื่อจัดการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ก็ไม่เคยวอกแวกอีกเลย  แม้จะมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เข้ามาท้าทายจนแทบล้มลง แต่ด้วยตระหนักรู้ว่างานสำคัญไม่เสร็จโดยง่าย  จึงนำความรักสู่ความเพียร จนงานการศึกษาเป็นงานแห่งชีวิต”


ผอ.ชนิตา พิลาไชย  หญิงแกร่งผู้ยืนสงบเป็นดาวเหนือในแถบภาคกลาง  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบพื้นที่ภาคกลาง  ท่ามกลางหน่วยงานต้นสังกัดที่ไม่เห็นด้วย  โรงเรียนอื่นก็มองว่าเป็นสิ่งแปลกแยก ทั้งมองว่าการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องตลกขบขัน  แต่ด้วยด้วยการเรียนรู้ร่วมกับครูผ่าน PLC อย่างต่อเนื่องและพิสูจน์ผลที่เกิดกับผู้เรียนจนเป็นที่ประจักษ์  จึงได้รับการยอมรับจากเขตพื้นที่การศึกษา  มีโรงเรียนจำนวนมากเข้ามาศึกษาดูงาน  มีผู้สนใจสนับสนุนเพื่อการขยายผลทั้งจาก  สโมสรโรตารีราชบุรี  มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง  ปตท. และ มูลนิธิแอคชั่นเอดอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  จนสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนากว่า 25  โรงเรียน  ใน 6 จังหวัด 

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคตะวันออก

“เป้าหมายของการศึกษา คือ  ผู้เรียน”  ซี่งต้องเริ่มจากการเรียนรู้ของผู้อำนวยการโรงเรียนก่อน เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำทางวิชาการ  แล้วนำมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันของครูด้วย PLC อย่างมีคุณภาพ ทำต่อเองเนิ่นนานจนเป็นวิถี เป็นชีวิต  “แม้ครูบางท่านเปลี่ยนแปลงได้ช้า ผู้นำต้องยังให้ความกรุณาต่ออย่างไม่จำกัด”

ผมเริ่มการเรียนรู้ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง สู่การพัฒนาครู เพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ ตั้งแต่ ปี 2556  ตอนนั้น พบภาพที่สะเทือนใจอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน ก็คือ ผู้ปกครองจูงลูกเดินผ่านโรงเรียนเพื่อข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่งเพื่อส่งลูกเรียนในโรงเรียนเอกชน  ผมตั้งคำถามกับตัวเอง  เราเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน  ผลสอบระดับชาติเขาสูง ทำไมผู้ปกครองจึงไม่เลือกที่จะส่งลูกมาเรียน  ช่วงนั้นคะแนนสอบระดับชาติของโรงเรียนอยู่ในลำดับต้นๆ ของจังหวัด แต่ในเชิงประจักษ์แล้วผมรู้ดีว่า เด็กยังไม่มีวินัยต่อการเรียนมากนัก กำกับตัวเองได้น้อย ไม่ได้เป็นคนคิดเก่งและกล้าคิด ไม่มีสมรรถนะสำคัญสำคัญๆ   ตอนชวนครูเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ครูตั้งคำถามต่อผมว่า “แล้วถ้าคะแนนสอบระดับชาติของเราตกต่ำล่ะ”  ผมบอกว่า “ผมจะรับผิดชอบเองทุกอย่าง”    

แต่การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของต้นสังกัด โรงเรียนรอบข้าง ครู และผู้ปกครองนั้น ต้องอาศัยความเชื่อบางอย่าง ที่ทำให้เรากล้าหาญยืนสู้แรงเสียดทานรอบด้านเพื่อพิสูจน์ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน และอีกอย่างเพราะผมรู้สึกว่าผมมีพี่น้อง ทั้ง ปตท. โรงเรียนเครือข่าย และ ครูทุกคนในโรงเรียน   


ผอ.สมเดช  อ่างศิลา   ผู้แน่วแน่ ทุ่มเท เสียสละ จนงานการพัฒนาการศึกษากลายเป็นงานชีวิต  เพียรพัฒนาตนเอง พัฒนาครู และพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นต้นแบบโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ   สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อำนวยการและครูจำนวนมาก   ทั้งเป็นผู้ขับเคลื่อนขยายผลด้วย PLN  กับโรงเรียนเครือข่ายของรัฐและเอกชนในภาคตะวันออก และ ภาคกลาง  โดยมีการจัดอบรมทั้งในและนอกโรงเรียน  การ Site visit และ การ Coach ทั้ง Onsite และ Online    

ครูของโลกในฐานะผู้ริเริ่มขยายผล "โรงเรียนจิตศึกษา" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


“ก่อนหน้านี้ ผมเป็นคนเห็นแก่ตัว ตระหนี่ ไม่เสียสละ” และเมื่อโอนจากสายงานบริหารการศึกษามาสู่งานผู้บริหารสถานศึกษา ก็ไม่ได้มีความเข้าใจต่อครูต่อนักเรียนมากนัก  ปัญหาจุกจิกในโรงเรียนก็เยอะแยะมากมายแก้ไม่จบสิ้น  พยายามจะเปลี่ยนครูก็เปลี่ยนยากเหลือเกิน

เมื่อปี 2555 ได้มีโอกาสมาเรียนรู้งานการศึกษาจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ นับถึงวันนี้ก็มาเรียนรู้ที่ลำปลายมาศพัฒนาแล้วกว่า 50 ครั้ง  การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทำให้ผมเริ่มตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองจากหลักคิด เปลี่ยนทีละนิด ทีละ 1 เปอร์เซ็นต์ จนปัจจุบันผมแน่ชัดในตนเองว่าต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง  ผมเชื่อว่า “การที่จะเปลี่ยนครู เปลี่ยนเด็ก ๆ ได้จริง ๆ  เราต้องให้ความกรุณาแบบไม่จำกัด”


ผอ.สมศักดิ์ ประสาร เริ่มการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนบ้านปะทายจากปี 2555 ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน  โดยใช้นวัตกรรม จิตศึกษา PBL และ PLC ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยามในการทำงานกับครู ผ่าน PLC และ การทำงานกับชุมชน ผ่าน CoP 

ทำงานแบบทำอาชีพ  ให้กลายเป็นงานที่รัก และกลายเป็นงานชีวิต สร้างความหวังและพลังใจให้ครูจำนวนมาก   ทั้งเป็นผู้ลงมือขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาโดยเครือข่าย PLN  ซึ่งเริ่มมีการขับเคลื่อนการขยายผลในปี 2560 เป็นต้นมา  โดยมีการจัดอบรมทั้งในและนอกโรงเรียน  การ Site visit และ การ Coach ทั้ง Onsite และ Online