News

บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ /จุดประกาย  จันทร์ 30 สิงหาคม 2564

"เปลี่ยน Living เป็น Learning” เรียนรู้อย่างไรให้ไร้กรอบ กับครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง

25 สิงหาคม 2564 | โดย ปริญญา ชาวสมุน


ปลดล็อกการเรียนรู้ในภาวะโควิด เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยกระบวนการที่ผู้เรียนเป็นฐาน ให้อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน

“โควิดคือโอกาส” เป็นถ้อยคำที่ วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ มักจะพูดอยู่เสมอ เพราะสิ่งที่เขามองเห็นในวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นหนทางสร้างวิถีแห่งการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นฐาน (Child Base Learning) อย่างแท้จริง และสถานการณ์ดังกล่าวก็จะเปลี่ยน Living เป็น Learning ได้ ถ้าหากครูและผู้ปกครองเข้าใจกระบวนการที่จะนำไปสู่ทั้งสองสิ่ง

สารตั้งต้นของแนวคิดเรื่อง Child Base Learning เกิดจากการอ่านเรื่องราวของโรงเรียนทดลองแห่งหนึ่งชื่อว่า KEEP Academy ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แร้นแค้นของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทดลองวิธีการด้านการศึกษากับเด็กในพื้นที่นั้น จนกระทั่งไม่กี่ปีผ่านไป เด็กๆ ซึ่งมาจากครอบครัวผู้อพยพและยากจนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนสูงมาก โดยเฉพาะคณิตศาสตร์

ปัจจัยสำคัญของผลสัมฤทธิ์คือการเปลี่ยนช่วงปิดเทอมฤดูร้อนอันยาวนานที่โดยปกติครอบครัวยากจนจะไม่ส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเรียน ทำให้เด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย ให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเรียนในช่วงปิดเทอมจากโรงเรียน กระทั่งได้ผลลัพธ์อย่างที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“ทุกครั้งที่เราจะปิดเทอมใหญ่ เราก็จะมีการดีไซน์ว่าจะทำให้เด็กยังคงการเรียนรู้อยู่ได้อย่างไร เราก็จะดูว่าจะออกแบบอย่างไรให้ผู้เรียนกับพ่อแม่ยังจดจ่อ แล้วก็เกื้อหนุนให้ลูกยังเรียนอยู่ เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ถดถอย ก็เป็นความคิดมาตั้งแต่ต้นว่า แท้จริงแล้วเราต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอด อีกอันหนึ่งที่เป็นแพสชั่นส่วนตัว คือ ผมรู้สึกว่าในยุคสมัยนี้สิ่งต่างๆ ก้าวกระโดดมาก การที่จะยึดโยง ผูกขาดการเรียนรู้ไว้ที่สถาบันการศึกษาอาจจะไม่ใช่แล้ว”

เขายกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับเด็ก ม.6 บางคนที่อยากเรียนหมอ แต่การเรียนรูปแบบเดิมๆ ที่มีวิชาอื่นๆ ราว 13-14 วิชา หลังจากคุณครูระดมให้การบ้านผ่าน Google Classroom เด็กๆ ต้องใช้เวลาทั้งสัปดาห์เพื่อสะสางงาน มิหนำซ้ำยังต้องเอาเวลาส่วนตัวไปลงเรียนพิเศษที่มีค่าเรียนแพงหลายพันบาท

เด็กบางคนฝันอยากเป็นนักเขียนโค้ด ก็ใช้เวลาส่วนตัวไปลงเรียนไพทอน (Python) ซึ่งไม่มีอยู่ในหลักสูตรมัธยมศึกษา เหตุการณ์เหล่านี้กำลังบ่งบอกว่าเด็กๆ กำลังพยายามไปสู่เป้าหมายด้วยตัวเอง ในแง่ดีนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้าง Self Directed Learner จากผู้เรียนจริงๆ

“เราน่าจะทำอะไรที่เป็นโครงสร้างจริงๆ จังๆ เป็นรูปแบบจริงๆ จังๆ ว่า จะทำอย่างไรให้ เคลื่อน Mindset ที่ว่าจากโรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ หรือสถาบันการศึกษาเป็นฐานในการเรียนรู้ ไปสู่ผู้เรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ มีสโลแกนง่ายๆ ว่า ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและ Mindset

ในฐานะเราเป็นผู้ใหญ่อาจจะต้องสนับสนุนเรื่องโครงสร้าง จัดการเรื่องโครงสร้างพอสมควร โครงสร้างก็อาจจะเป็นทั้งรูปแบบที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ส่วน Mindset ก็เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า สถานศึกษาเท่านั้นที่เป็นที่สร้างการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นผู้เรียนก็สร้างการเรียนรู้เองได้”

ในสถานการณ์ที่ภายนอกบ้านไม่น่าไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งที่โรงเรียนเองก็ตาม ‘บ้าน’ จึงเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่การเรียนรู้แบบเดิมก็อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว ครูใหญ่วิเชียรบอกว่านี่เป็นโอกาสทั้งของเด็ก ผู้ปกครอง และครู ที่จะเกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะใช้โอกาสนี้ส่งผลถึงการเคลื่อน Mindset ของทั้ง 3 กลุ่ม รวมไปถึงการจัดการต่างๆ ที่จะยังคงการเรียนรู้ไว้ไม่ให้ถดถอยขณะที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้าน

เขาอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเคลื่อน Mindset การเรียนรู้จาก ‘โรงเรียน’ เป็นฐาน สู่ ‘ผู้เรียน’ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ นำไปสู่แนวคิดที่ว่า กระบวนการเรียนรู้ส่วนมากของมนุษย์ควรจะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง สอดคล้องกับยุคสมัยที่ทุกอย่างค้นหาได้ง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยี

ในช่วงภาวะโควิด-19 อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต แต่สำหรับครูและผู้ปกครอง ต้องร่วมกันใช้ช่วงเวลานี้ให้เป็นโอกาสส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ไม่ชะงัก ไม่ถดถอย และถึงที่สุดแล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้

ครูใหญ่วิเชียรบอกว่านี่คือโอกาสฝึกฝนความเป็น ‘Self Directed Learner’ ให้แก่เด็กๆ ว่าจะทำอย่างไรในภาวะโควิด-19 โดยยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังเรียนรู้ปกติ อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัวมากเกินไป เมื่อมีวัตถุประสงค์แบบนี้แล้ว ก็นำไปสู่การออกแบบการทำงาน

“ครูกับผู้ปกครองทำงานร่วมกันอยู่ 2-3 ครั้งเลยถึงลงตัว เรื่องการให้ผู้ปกครองออกแบบวิถีชีวิตที่บ้าน จาก Living เป็น Learning ให้ได้ โดยเราเริ่มต้นจากให้ทำอย่างง่ายก่อน ให้มี 3 ช่วง ที่เด็กจะต้อง ‘ทำท่าเรียน’ คือถึงเวลาก็มานั่งเรียน มานั่งทำกิจกรรม อาจจะมีพ่อแม่ทำด้วยถ้าชั้นเล็ก ชั้นโตเขาก็ต้องทำเอง

สักพักคำว่าทำท่าเรียนจะกลายเป็นพฤติกรรมการเรียน และในที่สุดก็จะเป็นวิถีแห่งการเรียนไปเลย เพราะเวลาเขาอยู่บ้านจะรู้สึกผ่อนสบาย อยากจะทำอะไรก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ทีนี้เราคุยกับพ่อแม่บ่อยครั้งมาก ครั้งที่ 2-3 ถึงลงตัว แล้วพอเป็นวัยอนุบาลจะไม่ใช่ 3 ช่วงเวลาแล้ว ตอนอยู่บ้านคือกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดเลย"

ครูใหญ่วิเชียรยกให้ Professional Learning Community (PLC) เป็นกระบวนการที่ทำให้ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ ส่วนผู้ปกครองเป็นผู้เกื้อหนุนการเรียนรู้หรือสนับสนุนการเรียนรู้ โดยเปลี่ยนชุดความคิดด้านการสอนแบบเก่าๆ มาเน้นกระบวนการที่ผู้เรียนเป็น ‘Self Directed Learner’

“กระบวนการ PLC ที่มีคุณภาพทำให้ครูและคนที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ ได้เห็นปัญหา ได้เห็นแง่มุมต่างๆ อย่างแท้จริง เราคุยกันมากถึงเรื่องสถานการณ์ ความซับซ้อนของปัญหา เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ครอบครัวแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร เราเก็บข้อมูลมาเรื่อย เพราะเรามีหลายอย่างที่ทำคู่ขนานกัน เราก็ได้ข้อมูลมา เช่น เรามีบางโครงการที่เข้าไปช่วยผู้ที่มีผลกระทบจากโควิด แล้วก็ช่วยผู้ปกครองบางกลุ่ม เพราะฉะนั้นข้อมูลก็จะกลับมาที่เราเยอะ ตัวเด็กเองด้วยความที่เรา PLC กันบ่อย เราจะเข้าใจเด็ก ความซับซ้อนพวกนี้จึงนำมาสู่การจัดรูปแบบและกระบวนการที่จะเข้าไปสู่เด็กแต่ละคนได้”

สถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ครูใหญ่วิเชียรอธิบายว่ากระบวนการ PLC ทำกันตั้งแต่ก่อนปฐมนิเทศการเรียน ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด และผู้ปกครองก็มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน โดยเป้าหมายที่ครูต้องกำหนดไว้มีอยู่ 3 ส่วน คือ

“ทั้งสามข้อนำไปสู่ ‘การออกแบบกระบวนการ’ เป็นวิธีการออกโจทย์ที่ซับซ้อนแต่ได้ผล สร้างกระบวนการที่จะทำงานกับผู้ปกครองและเด็ก โยงใยกันอย่างไร ระดับไหน เราจะกำหนดตัวจัดกระทำอย่างไร จะวัดอย่างไร พวกนี้เราต้องออกแบบการดำเนินการ กระบวนการก็จะเป็นพลวัตมากๆ หมุนเวียนกันไป ลงมือทำ เอามาสะท้อนผล ให้ฟีดแบคกับกลับมาสะท้อนผล

เพราะฉะนั้น PLC จะเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ เราจะได้เห็นทุกแง่มุมว่าผู้ปกครองแต่ละกลุ่มที่เราจัดไว้ เวลาเราจะกระทำลงไปท่านได้เข้าใจลูกมากขึ้นไหม เข้าใจวิธีทำไหม ตัวเด็กก็เหมือนกัน เด็กที่เราคิดว่าแบ่งเป็นกลุ่มที่ยากลำบาก พอเข้าไปช่วยเขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีจะทำอย่างไร”

การบ้านที่เยอะ-ยุ่ง ถูกยกเป็นตัวอย่างอุปสรรคของการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เพราะโดยทั่วไป เมื่อเด็กเรียนที่บ้าน ครูจะมอบการบ้านวิชาของตัวเอง ผลคือเด็กๆ จะมีการบ้านล้นมือ และหลายชิ้นก็ไม่มีคุณค่าต่อการใช้ความรู้หรือทักษะเพื่อให้ออกมาเป็นสมรรถนะ ครูใหญ่วิเชียรบอกว่ามันเยอะเกินไปจนไม่มีเวลาใคร่ครวญออกมา ทางออกคือเปลี่ยนความเยอะ-ยุ่งให้เป็นความซับซ้อนและท้าทาย


สำหรับครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะคิดโจทย์กันมา แล้วมาทำ PLC กัน ดูแง่มุมว่ามีโจทย์อย่างไร สถานการณ์แบบไหนที่จะสร้างให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยและดึงความรู้มาเป็นสมรรถนะด้วย ทำงานกันสักพักครูก็จะออกแบบโจทย์ที่ซับซ้อนท้าทาย เหมาะกับกลุ่มได้ โดยออกแบบโครงสร้างรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลทั้งออนไลน์-ออนไซต์ ทั้งแบบเรียลไทม์ ไม่เรียลไทม์ ถ้าเรียลไทม์จะต้องสั้นและเน้น Reflection เท่านั้น ไม่มีการบรรยาย

“กระบวนการ Reflection ที่ดี คือการฝึกกันว่าตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ตัวว่าเป้าหมายคืออะไร ตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ตัวว่าเขาอยู่ตรงไหน และตั้งคำถามอย่างไรให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร ตรงนี้เป็นศิลปะมาก ส่วนผู้ปกครองที่มาเรียนที่โรงเรียน ก็ทำ 2-3 เรื่องนี้ ฝึกฝนผู้ปกครองให้รู้ว่าจะซัพพอร์ตเด็กอย่างไรในแต่ละวัย

สำหรับการฝึกฝนผู้ปกครองมี 3 อย่าง หนึ่ง คือต้องรู้จักลูกจริงๆ เพราะบางคนมีลูกเป็นมัธยมแล้วยังเข้าใจว่าลูกต้องทำตัวเหมือนอนุบาล ซึ่งวิธีการที่จะปฏิบัติกับลูกต้องเปลี่ยนไปถ้าเขาเข้าใจลูกจริงๆ อย่างที่สอง เขาต้องเข้าใจเป้าหมายจริงๆ ว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ในสภาวการณ์แบบนี้ อะไรคือสิ่งสำคัญ อะไรคือสิ่งที่จับจ้อง อะไรคือเป้าหมาย และสามเขาต้องรู้วิธี ว่าจะฟีดแบคอย่างไร จะประเมินอย่างไร จะสังเกตอย่างไร จะส่งงานไปให้คุณครูอย่างไร คือสามเรื่องใหญ่ที่ผู้ปกครองต้องรู้”

ส่วนโครงสร้างการทำงานที่ครูใหญ่วิเชียรนำมาเป็นตัวอย่าง จะพบว่าทางโรงเรียนให้การบ้านไม่เยอะ คือ มี Problem-based Learning (PBL), ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, บันทึกชีวิต, บันทึกการอ่าน และจิตศึกษา (เช่น ฝึกสลับที่ความคิด สลับที่ความรู้สึก ฝึกการให้เหตุผลจากเหตุการณ์ของสังคม ฯลฯ) เขาอธิบายว่า ‘จิตศึกษา’ สำคัญมากที่สุด เพราะตระหนักว่าแม้เด็กจะมีสมรรถนะครบทุกด้าน แต่อาจถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ

“บางทีการมีสมรรถนะครบทุกด้านอาจจะไม่เป็นคุณกับใครก็ได้ ถ้าเขารวมกลุ่มกันใช้ความคิดที่ซับซ้อนสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถโจรกรรมได้ เราจึงต้องบอกเรื่องหนึ่งกับผู้ปกครองแล้วให้ผู้ปกครองฝึกฝน คือเรื่องการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม เพราะการฝึกฝนการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมผ่านจิตศึกษาก็จะช่วยให้ผู้เรียนชั่งน้ำหนัก ประเมินผลที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกกับคนหมู่ใหญ่ได้เสมอ ก็กลายเป็นว่าเขาใช้สมรรถนะไปทางที่เป็นคุณกับคนอื่นๆ ได้”

สำหรับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ใช้เครื่องมือคือ ตารางการประมวลความก้าวหน้าของผู้เรียน มาช่วยดีไซน์ให้เห็นว่าเด็กได้รับงานหรือไม่ ส่งงานหรือเปล่า ครูให้ฟีดแบคหรือเปล่า และสุดสัปดาห์ครูมีประเมินหรือไม่

ประโยชน์ของการประเมินในแต่ละสุดสัปดาห์ก็เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสัปดาห์ถัดไป ได้ผลหรือไม่กับเด็กแต่ละกลุ่ม ครูใหญ่ย้ำว่าฟีดแบคสำคัญมากต่อผู้เรียน เช่นเวลาครูให้การบ้านเด็กนักเรียนไป เด็กบางคนจับทิศทางไม่ถูก การฟีดแบคอย่างรวดเร็วทำให้เขากลับมาสู่ทิศทางและเป้าหมายที่ต้องทำให้ถูกทางได้เร็ว สุดท้ายก็ไม่ล้มเหลว


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956504

Tags:

#การเรียน  #Lockdown  #ล็อกดาวน์ #การศึกษา #วิเชียร ไชยบัง #Child Base #Learning #Self #Directed #Learner #Professional #Learning #Community #PLC


บทความจาก PPTVHD 36 โดย THE POTENTIAL   เผยแพร่ 24 ส.ค. 2564, 10:20น.

หยุดเรียนไปเลยดีไหม เรียนไปก็ไม่ได้อะไร? ทำขนาดนี้ พ่อแม่เหมือนกลายเป็นครูเองแล้ว! ไม่รู้จะหาเวลาไหนมานั่งเรียนกับลูก! มีมือถือแค่เครื่องเดียว จะเรียนพร้อมกันยังไง ตั้ง 3 คน!

เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองซึ่งขณะนี้เต็มไปด้วยความอึดอัดและสับสนว่าควรจัดการกับลูกอย่างไร ด้านครูเองก็กำลังตั้งคำถามเช่นกันว่าการศึกษาควรเดินหน้าไปในทิศทางไหน

การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้ทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และการออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ครูต้องเชื่อก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาด พบว่ามีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องหลายแห่งใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ครูร่วมระดมความคิดออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคลายความกังวลใจของครู ลดความอึดอัดใจของผู้ปกครอง และผู้เรียนยังได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้

เป็นที่มาของการจัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา* (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) กำหนดจัด 3 ครั้ง (วันที่ 22,29 สิงหาคม และ วันที่ 5 กันยายน) โดยการเสวนาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ เครือข่ายที่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาและมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ และเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ โรงเรียนบ้านปะทาย และ โรงเรียนบ้านกระถุน มีผู้บริหาร ครู บุคลากรด้านการศึกษา ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เข้าร่วมวงเสวนาร่วมจำนวนมาก

วางโครงสร้างใหม่ในวิกฤต

       เรียนอยู่กับบ้าน การบ้าน ใบงานไม่ต้องเยอะ แต่ขอให้เป็นโจทย์ที่ “ซับซ้อน” และ “ท้าทาย” 

การเจอครูแบบออนไลน์ไม่ใช่ชั่วโมงสอนความรู้ แต่เป็นการชวนผู้เรียนคิดสะท้อนสิ่งที่ทำมาก่อน แล้วครูให้คำแนะนำกลับ (feedback) เพื่อให้ผู้เรียนมีทิศทาง

       ผู้ปกครอง ไม่สอน ไม่สั่ง เน้นสนับสนุนให้คำแนะนำตามเป้าหมาย

           ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ สรุปถึงหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยย้ำชัดว่า ครูกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกัน โดยครูต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ดึงผู้ปกครองมาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจเป้าหมาย รู้จักลูก (ตามวัย) และรู้วิธีการเรียนรู้ร่วมกับลูก วงเรียนรู้ PLC (Professional Learning Community) หรือ ชุมชนการเรียนรู้  ที่ขยายจากการทำเฉพาะในกลุ่มครูไปสู่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อได้บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน

          “ตอนนี้ครูอยู่ในสถานการณ์ท้าทาย เราต้องดึงศักยภาพมาสู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะในตัวเอง แน่นอนว่าการเรียนที่โรงเรียน เด็กได้ผลลัพธ์มากกว่าเพราะได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ขึ้นอยู่กับว่าครูจะออกแบบการเรียนรู้และให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองได้มากแค่ไหน เพราะผู้ปกครองกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูและโรงเรียนต้องทำงานต่อไปเพราะเราคงไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ในวันเดียว  ผู้ปกครองก็ไม่สามารถเข้าใจได้ในวันเดียว สถานการณ์การเรียนแม้ว่าครูไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้คือหนทางออกในอนาคต เพราะยุคสมัยนี้การผูกขาดยึดโยงการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษาแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยคิดจากโรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ มาสู่ผู้เรียนเป็นฐานการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน” ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง กล่าว

เมื่อโลกเปลี่ยน ครูต้องเปลี่ยน

เรียนอยู่กับบ้าน การบ้าน ใบงานไม่ต้องเยอะ แต่ขอให้เป็นโจทย์ที่ “ซับซ้อน” และ “ท้าทาย” 

การเจอครูแบบออนไลน์ไม่ใช่ชั่วโมงสอนความรู้ แต่เป็นการชวนผู้เรียนคิดสะท้อนสิ่งที่ทำมาก่อน แล้วครูให้คำแนะนำกลับ (feedback) เพื่อให้ผู้เรียนมีทิศทาง

ผู้ปกครอง ไม่สอน ไม่สั่ง เน้นสนับสนุนให้คำแนะนำตามเป้าหมาย 

ครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ 

ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ สรุปถึงหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยย้ำชัดว่า ครูกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกัน โดยครูต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ดึงผู้ปกครองมาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจเป้าหมาย รู้จักลูก (ตามวัย) และรู้วิธีการเรียนรู้ร่วมกับลูก วงเรียนรู้ PLC (Professional Learning Community) หรือ ชุมชนการเรียนรู้  ที่ขยายจากการทำเฉพาะในกลุ่มครูไปสู่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อได้บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน

          “ตอนนี้ครูอยู่ในสถานการณ์ท้าทาย เราต้องดึงศักยภาพมาสู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะในตัวเอง แน่นอนว่าการเรียนที่โรงเรียน เด็กได้ผลลัพธ์มากกว่าเพราะได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ขึ้นอยู่กับว่าครูจะออกแบบการเรียนรู้และให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองได้มากแค่ไหน เพราะผู้ปกครองกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูและโรงเรียนต้องทำงานต่อไปเพราะเราคงไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ในวันเดียว  ผู้ปกครองก็ไม่สามารถเข้าใจได้ในวันเดียว สถานการณ์การเรียนแม้ว่าครูไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้คือหนทางออกในอนาคต เพราะยุคสมัยนี้การผูกขาดยึดโยงการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษาแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยคิดจากโรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ มาสู่ผู้เรียนเป็นฐานการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน” ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง กล่าว

เมื่อโลกเปลี่ยน ครูต้องเปลี่ยน

วัตถุประสงค์ของการวางโครงสร้างการจัดการเรียนรู้ในช่วงล็อกดาวน์ของโรงเรียนลำปลายมาศ เน้นไปที่การทำให้การเรียนของผู้เรียนไม่ชะงัก ไม่ถดถอย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคได้โดยไม่รู้สึกตระหนกและหวาดกลัว รวมทั้งให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนความเป็นผู้จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-directed learner)

           สำหรับนักเรียนปฐมวัย ครูสุกัญญา แสนลาด  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เล่าประสบการณ์ว่า การจัดการเรียนการสอนของเด็กอนุบาลต้องสอนพ่อแม่ก่อน ครูนัดผู้ปกครองมาประชุมร่วมกัน “ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองกลับไปสร้างการเรียนรู้ให้ลูกที่บ้านได้?” วิธีคิดนี้ทำให้การเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ระดับอนุบาลของโรงเรียนลำปลายมาศฯ “ไม่เรียน” ออนไลน์ 100% และครูไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวเด็กเลยแต่มีผู้ปกครองเป็น “โค้ช” อยู่ที่บ้าน

           การสร้าง self ให้ผู้เรียนเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ ครูสุกัญญา ยกตัวอย่างประโยคที่ยิ่งพูดลูกยิ่งเสีย self หรือยิ่งเสียความมั่นใจในตัวเอง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง เช่น  “ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่ เหมือนน้องบ้าง” “อีกแล้วนะสอนไม่รู้จักจำ” “บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าทำ” “ไปไกลๆ เลยนะ พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่” เป็นต้น โดยครูจะชี้แนะแนวทางให้ผู้ปกครองวิเคราะห์คำพูดและท่าทีของครูว่า คำพูดไหนควรพูดไม่ควรพูด ท่าทีไหนควรทำและไม่ควรทำกับลูก เพื่อให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดสื่อสารในทางที่ผิด

           ในระดับประถมศึกษา วิธีการที่ ครูศิริมา โพธิจักร์ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำมาใช้สร้างการเรียนรู้ คือ ความพยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกศิษย์เป็นรายคน และไม่ใช้ช่วงเวลาออนไลน์ในการบอกสอน แต่เปลี่ยนมาเป็นการฟังผู้เรียนนำเสนองาน อธิบายปัญหา และให้คำแนะนำจากกิจกรรมที่ผู้เรียนออกไปปฏิบัติ

        “กระบวนการฟีดแบคให้คำแนะนำนักเรียนของโรงเรียนลำปลายมาศฯ ครูจะทำทันที เราจะไม่ทิ้งโทรศัพท์และไม่รอช้า เมื่อมีไลน์เข้ามาครูจะรีบตอบกลับ เพราะเราเชื่อว่า ณ ขณะนั้นผู้เรียนกำลังมีความอยากเรียนรู้ ครูจะไม่ทิ้งโอกาสนี้” ครูศิริมา กล่าว

           ด้าน ครูพรรณี แซ่ซือ ครูระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กล่าวว่า ครูต้องปรับวิธีคิดของตัวเองให้เข้าใจโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นให้โจทย์ยากและซับซ้อนกับนักเรียนแต่ไม่เน้นปริมาณ หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ประเมินศักยภาพของผู้ปกครอง และความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ ครูยังต้องทำงานกับผู้ปกครองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกที่อยู่ในวัยรุ่น ครูใช้วิธีการให้พ่อแม่วิเคราะห์งานลูก และให้ลูกวิเคราะห์งานของพ่อแม่ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และตารางเวลาเรียนก็ยังเป็นการกำหนดร่วมกันอีกด้วย เช่น มีเรียนตอน 19.00 น. เป็นต้น

          “เด็กวัยนี้ใช้เวลาหน้าจอเยอะมาก ครูต้องฉกชิงช่วงเวลาหน้าจอมาเป็นช่วงเวลาการเรียนรู้ให้ได้ ด้วยการให้นักเรียนได้ลงมือทำ สร้างการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนออกแบบเอง เช่น การให้นักเรียนศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรใกล้ตัว และสกัดน้ำมันจากสมุนไพรหรือวัตถุดิบที่สนใจ เพราะเป้าหมายสำหรับนักเรียนมัธยม เราต้องการให้เขากำกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ชิ้นงานเป็นแค่ร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ครูประเมิน ติดตามผล และเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาเพิ่มเติมในทิศทางไหน” 

อยู่ที่ไหนก็ ‘เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ ‘ได้เรียน’

          กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ มีโรงเรียนนำร่อง 2 โรงเรียน ที่มีบริบทแตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 แห่ง สามารถจัดการเรียนรู้ฝ่าโควิด-19 ครั้งนี้ได้ สอดคล้องกับแนวคิดของครูใหญ่วิเชียรที่บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ ‘เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ ‘ได้เรียน’

           ครูปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์  โรงเรียนบ้านปะทาย จังหวัดศรีสะเกษ พยายามหาวิธีช่วยสนับสนุนพี่ๆ ไม่ให้ห่างการศึกษา ครูเอ๋ออกแบบการเรียนการสอนด้วยการเลือกหยิบตัวชี้วัดที่สำคัญของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ในแต่ละช่วงชั้นมาวางแผนการสอนก่อน และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน เช่น หน่วยการเรียนรู้จำนวนที่มีค่ามากในวิชาคณิตศาสตร์ ครูตั้งคำถามก่อนวางแผนการสอนว่า ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?  จำนวนที่มีค่ามากที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดเป็นอะไรได้บ้าง? นำมาสู่ไอเดียที่ครูหยิบยกตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาจัดการเรียนการสอนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนการประเมินเบื้องต้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง โดยครูกำหนดระดับให้เช่น “เตาะแตะ ใกล้แล้ว

         “ในช่วงแรกนักเรียนประถม ครูให้การบ้านไปเยอะ นักเรียนทำไม่ทัน บางครั้งผู้ปกครองทำให้ พอเกิดปัญหาครูก็ต้องมาปรับตารางการเรียนรู้ใหม่ เพื่อลดภาระงานของผู้เรียน ออกแบบวิธีการวัดและการประเมินผลใหม่ และสร้างการเรียนรู้กับผู้ปกครอง”

         อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนบ้านกระถุน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเชิงระบบ มีนักเรียนประมาณ 70 คน ครู 7 คน สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6  ครูสินีนาฎ ยาหอม เล่าว่า แนวคิดการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม โดยผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิตประจำวัน เช่น งานครัว งานบ้าน และงานสวน แต่ยังคงความท้าทายและความซับซ้อนของโจทย์การเรียนรู้ เช่นเดียวกับโรงเรียนลำปลายมาศฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ

         ครูสินีนาฎ ยกตัวอย่างโจทย์ที่มอบหมายให้นักเรียนระดับประถมลงมือทำงานครัว โดยให้ถ่ายคลิปขณะทำกิจกรรมส่งในกลุ่มไลน์ และให้อธิบายกระบวนการทำงาน โดยแจกแจงบทบาทให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย เช่น ถ่ายวิดีโอ ตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้กับลูกขณะทำกิจกรรม หลังทำกิจกรรมเสร็จแล้ว สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมบอก (อ่านหรือพาเขียน) ใบงานสรุปกิจกรรม ส่วนนักเรียนชั้น ป.2 – 3 สามารถออกแบบใบงานสรุปเองได้

        “ความท้าทายของครู อยู่ที่นักเรียนบางคนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ได้ยาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ได้เต็มที่ หรือบางคนไม่สามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้ แต่ความโชคดีของการเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูลงพื้นที่ไปหานักเรียนได้เลย แล้วแก้ปัญหาด้วยการนัดสอน และพูดคุยเพิ่มเติม หรือบ้านไหนที่เด็กเรียนรู้ได้ดี ผู้ปกครองพอช่วยได้ ครูจะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ช่วยตั้งคำถาม หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านกระถุน คือ ผู้ปกครองกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากทำให้การทำงานร่วมกันง่าย โดยเฉพาะในวง PLC ที่คุยกันได้แบบเปิดใจ”

โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง

          วิกฤติครั้งนี้ทำให้คนทำงานด้านการศึกษาทุกฝ่ายปรับตัวเร็วขึ้น และเกิดนวัตกรรมมากมายที่เป็นรูปธรรมด้านการจัดการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ สะท้อนว่า โควิด-19 ปรับวิธีคิดของคนทั้งประเทศหลายด้าน ในด้านการศึกษาทำให้โรงเรียนถูกมองเป็นเพียงแค่ศูนย์ปฏิบัติการสร้างการเรียนรู้ และมองเห็นสถานที่ทุกแห่งเป็นสถานที่เรียนรู้ได้

        “เราได้เห็นภาพชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เป็นอย่างไร จนทำให้ครูมีความเชื่อว่าเด็กทำได้ วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนวิธีทำงานของครู เปิดทางให้ครูได้ปรับทักษะ เช่น การวิเคราะห์บทเรียน การสร้างคำถาม การประเมินผลที่ไปให้ถึงสมรรถนะผู้เรียนจริงๆ เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ปกครองที่คิดว่าส่งลูกมาที่โรงเรียนแล้วสบาย ทั้งที่จริงๆ บ้านเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้มหาศาล เป็นจุดที่ทำให้ผู้ปกครองได้มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการเรียนรู้กับลูกหลาน แม้แต่ปู่ย่าตายายก็ทำได้ เป็นโอกาสให้เกิดการสร้างเครื่องมือที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยง แล้วใช้เครื่องมือเดียวกันในการพัฒนาผู้เรียน”

         ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โรงเรียนลำปลายมาศเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ มีปรัชญาของผู้บริหารที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดเชิงโครงสร้างของระบบโรงเรียนไปสู่ครูด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ครูและผู้บริหารเข้าใจตรงกันว่ากำลังจะพาโรงเรียนไปในทิศทางไหน ในที่นี้คือเน้นตัวเด็ก (self) เป็นสำคัญ การที่โรงเรียนแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ (Vision) กับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจเป้าหมายเป็นการสร้างแรงผลักดันที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มองเรื่องการช่วยลูกเรียนที่บ้านเป็นภาระ ส่วนนี้ทำให้ผู้ปกครองเต็มใจให้ความร่วมมือแทนที่จะส่งเสียงก่นด่า

       “การทำแซนด์บ็อกซ์ (พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) การเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทดลองทำอย่างอิสระ เป็นแนวคิดที่สำคัญ ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงโครงสร้าง เราจะรู้สึกถึงความแข็งกระด้าง แต่โครงสร้างในมิติใหม่ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ร่วมมือ และเข้าใจตรงกัน แสดงให้เห็นวิธีการออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ที่ครูต้องเข้าใจตรงกันก่อน จุดตั้งต้น คือ ครูต้องการอะไร แล้วอยากให้เกิดอะไรกับผู้เรียน หลังจากนั้นจึงสร้างระบบการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครอง ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจ ตระเตรียมผู้ปกครอง สืบหาปัญหาและข้อจำกัด ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านและที่โรงเรียนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีเป้าหมายตรงกันอยู่ที่ผู้เรียน...เราต้องไม่กลัวโควิด-19 แต่ต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้”


ปลดล็อกเมื่อล็อกดาวน์

          การจัดการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น ปลดล็อกระบบไม่เน้นการสอนเพื่อวัดผล เรียนเฉพาะวิชาสำคัญ แล้วผลักดันให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้จากเรื่องราวรอบตัว เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษามีความคิดเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องหนุนการศึกษาไทยไปในทิศทางนี้ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ 

         ขณะที่การสนับสนุนจากฝ่ายนโยบาย ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย้ำว่า ปัจจุบันมีการปลดล็อกให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นแทบทุกด้าน

         “สำนักวิชาการฯ พยายามติดตามข่าวว่าปัญหาและความทุกข์ของครูอยู่ตรงไหน แล้วพยายามปลดล็อกให้ ทั้งเรื่องตัวชี้วัด การสอบ การนับเวลาเรียน ให้อยู่บนเกณฑ์และเป้าหมายที่ครูกำหนดได้และสามารถลงมือทำได้ทันที”

         ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายด้านการศึกษาว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2565 หลังมีการวิจัย พัฒนา และทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด กรณีศึกษาจากทั้ง 3 โรงเรียนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะไม่เป็นภาระให้กับครูและโรงเรียนในอนาคต เพราะเนื้อหาในหลักสูตรทั้งหมดเป็นสิ่งที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว

         “หัวใจความสำเร็จของการศึกษาฐานสมรรถนะ คือ การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ร่วมมือร่วมใจกันในโรงเรียน ระหว่างผู้อำนวยการ ครูทุกคนในโรงเรียน มาวางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ในวันนี้ได้เห็นภาพที่เกินความคาดหมายไปด้วยซ้ำ เพราะได้เห็นความร่วมมือของผู้อำนวยการ ครู นักเรียนและผู้ปกครอง เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่อิงกับชีวิตจริง ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเอง โดยมีผู้ปกครองคอยช่วย ได้รับความรู้ ทักษะและเจตนคติไปด้วยกันอย่างครบถ้วน สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นได้” ดร.สิริกร กล่าว


ที่มา https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/154755



บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ   จันทร์ 30 สิงหาคม 2564

24 สิงหาคม 2564        ภาพโดย Sasin Tipchai 

เปลี่ยนแนวคิด ปรับแนวทาง สร้างการศึกษาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ท่ามกลางวิกฤต “โควิด-19” ให้ช่วง “Lockdown” ไม่ได้มีแค่การศึกษาผ่านการ “เรียนออนไลน์”

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษาที่ถูกเร่งให้ต้องปรับเปลี่ยนยกเครื่องขนานใหญ่ เบื้องต้นเพื่อรับมือกับวิกฤตเฉพาะหน้า ซึ่งการไปโรงเรียนตามปกติเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่จนถึงวันนี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน การปรับรูปแบบการเรียนรู้ในครั้งนี้อาจกลายเป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาไทยครั้งสำคัญ 

Child Based Learning หรือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นฐานหลัก คือหนึ่งในแนวคิดการจัดการศึกษาที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานำมาใช้ในสถานการณ์นี้ โดยมีหัวใจสำคัญคือ “อยู่ที่ไหนก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้” ชวนให้เรากลับไปตั้งต้นที่หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้ นั่นคือสมรรถนะของ ‘ผู้เรียน’

งานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา นอกจากจะนำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พร้อมกับโรงเรียนในเครือข่าย อย่างโรงเรียนบ้านปะทาย และโรงเรียนโรงเรียนบ้านกระถุน ซึ่งใช้หลัก “Child Based Learning” และวง PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว ในวงเสวนายังเปิดเวทีสะท้อนคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา อาทิ

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ความเห็นว่า “โควิด-19” ไม่ได้ทำให้เราติดกับหรือถูกล็อกการเรียนรู้ กลับกันโควิด-19 ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในระบบการศึกษาบ้านเรา รวมถึงการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการมองโรงเรียนในเวลานี้เป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติการที่จะทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ (ครู ผู้ปกครอง นักเรียน) มองเห็นสถานที่เรียนรู้ที่เป็นไปได้ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะ ‘บ้าน’ ก็เปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ได้มหาศาล

นอกจากนี้ มายเซ็ตของผู้เรียนเองที่กลายเป็นเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เกิดเป็น Trust หรือความเชื่อมั่นว่าเด็กเรียนรู้เองได้ มายเซ็ตผู้ปกครอง จากที่เคยมองว่าโรงเรียนเป็นคนจัดการเรียนรู้ให้ลูก วันนี้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือแม้แต่ปู่ย่าตายายเองก็จัดการศึกษาให้ลูกหลานได้ และมายเซ็ตของครูในการทำงาน จากทำงานเป็นปัจเจก ก็รวมมือผ่านวง PLC ช่วยกันแชร์ vision (วิสัยทัศน์)

นอกจากการปรับมายเซ็ตแล้ว รศ.ประภาภัทร กล่าวว่า “เห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนทักษะ เห็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการศึกษาเวลานี้ เช่น ทักษะการสร้างคำถาม ทักษะการสร้างประเมินผลที่ไปถึงผู้เรียนจริงๆ ตัวผู้เรียนได้วิเคราะห์งานที่ทำว่าได้อะไรจากการทำสิ่งๆ นี้ แม้แต่ครูเองก็ได้ทักษะการเข้าไปสำรวจตัวเอง รวมถึงผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งหมดนับเป็นสมรรถนะที่อยู่ใน 21st century skills หรือทักษะในศตวรรษที่ 21”

เหล่านี้เป็นสิ่งที่รศ.ประภาภัทรทำงานมาตลอด รวมถึง การสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงใช้เครื่องมือเดียวกัน สะดวกในการปฎิบัติ ทำให้เกิดเรียนรู้ที่มีความหมาย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความคิดเห็นว่า อยู่ที่การทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ลำปลายมาศพัฒนา ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนถ่ายทอดความฝันได้ หลักคิด ปรัชญาของผู้บริหาร สร้างเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น และก็ได้คุณครูในโรงเรียนมาร่วมกันสร้างผ่านวง PLC จนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย

นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้เน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเห็นได้จากเป้าหมายที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตั้งให้นักเรียน คือ เน้นพัฒนาการของเด็ก เช่น EF (การทำงานของสมองขั้นสูง) Self (ตัวตน)

“การแชร์ vision ให้เกิด passion นำมาสร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้ มันมีเส้นแบ่งบางๆ ว่า เรากำลังสร้างภาระให้ผู้ปกครองหรือพาผู้ปกครองเรียนไปด้วยกัน ถ้าไม่สร้าง passion ให้ผู้ปกครอง ใช้ระบบเดิมๆ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นภาระงานให้ผู้ปกครอง เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่า “ทำไมต้องทำ” ฉะนั้น การตระเตรียมผู้ปกครองจึงสำคัญ ที่ลำปลายมาศฯ มีการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าเขากำลังพัฒนาลูกหลาน มีครูที่คอยบอกว่าเขาต้องปฎิบัติตัวยังไง พูด ตั้งคำถามแบบไหนกับลูก และยังทำให้การเรียนรู้ที่บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงกัน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็หยิบประเด็นการทำงานร่วมกันของครูและผู้ปกครองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาเช่นนี้ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการแชร์ผ่านเครื่องมือที่สำคัญอย่างวง PLC

“วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นคีย์เวิร์ดตัวหนึ่งที่เป็นประโยชน์ การเรียนรู้ของผู้ปกครอง เรารู้ว่าระบบการศึกษาพอโรงเรียนแยกมาจากคำว่า “บวร” ผู้ปกครองก็โยนภาระให้ครู ให้โรงเรียน แต่ครั้งนี้ผู้ปกครองได้เรียนรู้มหาศาลเลย ที่สำคัญได้เข้าใจลูกตัวเองที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษา ได้เห็นพัฒนาการของลูก ได้เห็นว่าครูยากลำบากยังไงในการสอนลูกตัวเอง วิกฤตอันนี้ถือเป็นการสื่อสารวิชาพ่อแม่ครู พ่อแม่กลายเป็นครู เป็นครูคนแรกของเด็กอย่างจริงจังเสียที

“ที่ผู้ปกครองเปลี่ยนได้ส่วนหนึ่งเพราะกระบวนการจิตศึกษาที่ลงไปที่ผู้ปกครอง ทำยังไงถึงจะดึงผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา เข้ามามีส่วนร่วม เปลี่ยนมายเซ็ตพวกเขา เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับโรงเรียน” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

รศ.ดร.สุธีระทิ้งท้ายคำถามชวนคนในวงเสวนาคิดต่อว่า โครงสร้างระบบการศึกษาในเวลานี้สามารถตามทันโลกปัจจุบันหรือไม่ และระบบพัฒนาครูที่ต้องเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ ในอนาคต แนวโน้มการพัฒนาครูจะเป็นอย่างไร

แม้ว่าที่ผ่านมาหลายโรงเรียนจะพยายามปรับตัวเพื่อที่สอดรับกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เสียงสะท้อนจากผู้อำนวยการและครูในฐานะผู้ปฏิบัติ คือ กฎระเบียบต่างๆ ได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างยาก ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ทางสำนักวิชาการฯ พยายามปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยติดตามจากสถานการณ์ในปัจจุบันว่าโรงเรียน ครู นักเรียนมีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง และส่งเรื่องไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เช่น ปัญหาเวลาเรียน จากสถานการณ์ทำให้เวลาเรียนของเด็กที่ตามระเบียบจะต้องร้อยละ 80 ขึ้นไปถึงจะสามารถเลื่อนชั้นหรือเรียนจบได้ ทางสำนักฯ พยายามยืดหยุ่นโดยให้ครูเป็นคนวัดว่าความสามารถเด็กในตอนนี้ผ่านเกณฑ์ที่ครูตั้งไว้หรือไใม่ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องเวลาเรียน หรือการวัดและประเมินผลจากเดิมที่ต้องใช้แบบทดสอบ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตามที่โรงเรียนเห็นสมควร

ในอีกมุมหนึ่ง ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของคณะกรรมการพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน เพราะตอนนี้เทรนด์การศึกษาโลกเปลี่ยนจาก content based เป็น capacity based ใช้สมรรถนะเป็นฐาน ความกังวลของคณะกรรมการ คือ กลัวว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูและนักเรียนในสภาวะเช่นนี้ แต่จากการฟังงานเสวนาครั้งนี้ก็พบว่า หลักสูตรที่โรงเรียนคิดมีการใส่เป้าหมายพัฒนาเด็กโดยใช้สมรรถนะตั้ง แถมมีสมรรถนะมากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดเสียอีก ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับเปลี่ยนในระบบการศึกษาไทย

“หัวใจของความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จากที่คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาตัวอย่างหลากหลายประเทศที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือฟินแลนด์ที่สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูทุกคน ในการร่วมมือวางแผนจัดการเรียนรู้ วันนี้จากที่ฟังครูทั้ง 3 โรงเรียน กระบวนการที่พวกท่านทำเหมือนที่ฟินแลนด์ทำเลย ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และเด็กต่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะนักเรียนที่รู้ว่าตัวเขาต้องการสมรรถนะอะไร และต้องทำยังไงให้ไปถึงได้” ดร.สิริกรกล่าว

ปิดท้ายด้วยมุมมองจาก ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวถึง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่าน พื้นที่นวัตกรรม: การศึกษาไทยแก้ได้ในชาตินี้ ให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของ) พื้นที่นำร่องทั้ง 8 จังหวัดได้เปิดให้โรงเรียนเป็นคนออกแบบหลักสูตรการศึกษาด้วยตัวเอง ความสำคัญของพื้นที่นี้ คือ การขยายผลเอากระบวนการของโรงเรียนที่ทำสำเร็จส่งต่อให้โรงเรียนอื่นๆ เพื่อปฎิรูปการศึกษาไทย

“เราเอาระบบการศึกษากลับไปที่หัวใจจริงๆ ก็คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองของผู้เรียน เน้นเป้าหมายแท้จริง เปลี่ยนจากโรงเรียนที่เคยเป็นฐาน กลายมาเป็นผู้เรียนเป็นฐาน”

ดร.พิทักษ์ กล่าวถึงหลักคิดในการจัดการเรียนรู้ที่น่าจะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า “ที่ลำปลายมาศให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์ น้อยแต่สำคัญยิ่ง เน้นความท้าทายเป็นหลัก ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต เราเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เปิดการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น ให้ความสนใจสำคัญกับสิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ”


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956282


บทความจาก ไทยโพส์ต   23 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15:11 น. 

'สมพงษ์' แนะรร.เตรียมความพร้อมให้กับผู้ปกครองไว้ รองรับการเรียน  Onsite, Online ,On hand 

ภาพจาก ไทยโพส์ต

23ส.ค.64- นายสมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ตนได้รับฟังการเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางเป้าหมายของโรงเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการวางเป้าหมายแบบที่ผู้บริหาร ครู ร่วมกันคิด คือ จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การเผยแพร่วิสัยทัศน์ ให้เกิด แรงบันดาลใจ   หรือ Passion เพราะการเรียนออนไลน์ เป็นการการสร้างระบบการเรียนรู้ไปกับผู้ปกครอง ดังนั้นหากเราไม่แชร์วิสัยทัศน์และไม่สร้าง Passion ไปกับผู้ปกครองด้วย เรื่องการเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นภาระ แก่ผู้ปกครองทันที ซึ่งตนมองว่าโรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปกครองให้การเรียนรู้ที่บ้านและโรงเรียนเชื่อมโยง และมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อบุตร หลาน

"บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ โรงเรียนไม่จำเป็นต้องสั่งงาน หรือ ให้ใบงานจำนวนเยอะ แต่ขอให้เข้าใจว่าเรากำลังทำงานในโจทย์ที่มีความท้าทาย ซับซ้อน และมีเรื่องความแตกต่าง เพราะในอนาคตการเรียนรู้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไป จะเป็นการเรียนรู้ระหว่าง Onsite Online และ On hand ไม่ใช่มีเพียงรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง โรงเรียนจะกลายเป็นหน่วยงานกลาง ที่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร และนักเรียน มาร่วมกันออกแบบการเรียนรู้"กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.กล่าว

นานสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สิ่งที่ตนต้องการที่จะเน้นย้ำ อีกเรื่อง คือ เรื่องเป้าหมายชีวิต และการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ตนทำงานร่วมกับเด็กยากจนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง เด็กกลุ่มนี้ไม่มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายชีวิตไม่มี ดังนั้นหากผู้ปกครองรักบุตร หลาน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก